อุบลเมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี
มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน
ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม
งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์
ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์คนดีศรีอุบล

กลับมาเยือนเมืองอุบลในรอบนี้ เที่ยวติดดินจะพาไปเปิดเรื่องราวใหม่ๆในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดแห่งแสงแรกของประเทศไทย เริ่มต้นการเดินทางของเราด้วย หาดทรายสูง ด้วยที่ว่าจังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงเป็นตะเข็บชายแดงไทยกับลาว ซึ่งในช่วงหน้าแล้งนั้นจะมีพื้นที่ที่เป็นหาดทราย ตลอดแนวแม่น้ำโขงจนสามารถไปเที่ยวเล่นประหนึ่งว่าเป็นทะเลทรายขนาดเล็กๆริมแม่น้ำโขงเลยทีเดียว หาดทรายสูง”นั้น ตั้งอยู่ที่ บ้านลาดเจริญ ต.นาแวง อ.เขมราฐ นอกจากหาดทรายสูงแล้วก็ยังมีโขนหินคล้ายๆที่สามพันโบกอีกด้วย บรรดาแก่งหินโขดหินบริเวณนี้ที่จมอยู่ใต้น้ำ ส่วนหนึ่งได้ถูกกระแสน้ำกัดเซาะ ขณะที่แก่งหิน ลานหิน จำนวนมาก ถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพัดพาเอาก้อนหินลูกน้อยใหญ่ เศษไม้ กระดูกสัตว์ มาเสียดสีกับแก่งหิน ลานหิน ทำให้เกิดเป็น“โบก” สารพัดรูปพรรณสัณฐานส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันน่าตื่นตาตื่นใจ สามารถเดินไปถ่ายรูปเล่นได้ในเวลาน้ำลด

นอกจากหาดทรายสูงแล้วก็ยังมีใกล้ๆกันก็ยังมีอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจนั้นก็คือ ต้นหว้าคู่ ที่เป็นตำนานรักมั่นคง ปัจจุบันถูกตั้งให้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งพอเราได้เดินเข้าไปชมรอบๆก็จะมีรั้วที่ประดับด้วยดอกยางรายรอบเป็นรูปหัวใจ ซึ่งคนที่เป็นคู่รักก็สามารถมาเดินลอดใต้ต้นหว้าคู่เพื่อให้รักกันไปตลอด สุดแสนจะโรแมนติกกันเลยที่เดียว

หลังจากเที่ยวในช่วงแรกก็ได้เวลาใกล้เที่ยง เลยต้องเติมพลังด้วยอาหารอีสานริมแม่น้ำโขงกันครับ ซึ่งร้านที่เราจะพาท่านไปชิมในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งร้านที่ติดริมแม่น้ำโขง ก็คือ แลโขง บรรยากาศภายในร้านนั้นกว้างขว้างน่านั่ง มองไปอีกฝั่งของแม่น้ำก็จะเห็นประเทศลาว รสชาติของอาหารนั้นอร่อยถูกปากแน่นอน ส่วนเมนูอาหารนั้นมาถึงแหล่งแม่น้ำโขงแล้วจะไม่สั่งอาหารประเภทปลาก็คงไม่ได้ นอกจากเมนูปลาแล้วยังมีพวกส้มตำที่อร่อยนัวไม่แพ้กัน ซึ่งร้านแลโขงนั้นตั้งอยู่ที่

  • ต.เขมราฐ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี 34170
  • โทรศัพท์ : 0871112836

หลังจากอิ่มท้องกันแล้วเราก็จะไปกันต่อที่เขมฐราช ซึ่งใครก็ตามที่เบื่อความวุ่นวายของเมืองหลวง แต่ฝันถึงวิถีชีวิตผ่อนคลาย อยากหลบมุมพักผ่อนในอำเภอเล็ก ๆ ริมโขงแต่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานกว่า200ปี ที่มีวิวที่สวยงามในยามเย็น ใช้ชีวิตเนิบช้าท่ามกลางบรรยากาศวิถีชุมชนโบราณและลิ้มรสอาหารที่ชุมชนได้มีการทำขึ้นมาเพื่อส่งออกไม่ว่าจะเป็นกล้วยตาก ซึ่งกล้วยตากที่นี นั้นมีความพิเศษกว่าที่อื่นก็คือ กล้วยตากแสงแรกแห่งประเทศไทย ใช่ครับ แสงแรกของประเทศไทยจริงๆ นอกจากนั้นแล้วกล้วยที่ใช้จะต้องเป็นกล้วยของที่เขมราฐอีกด้วย ซึ่งลักษณะดินที่ปลูกก็จะไม่เหมือนที่อื่นใดในโลก พูดไปฟังดูเหมือนเวอร์ แต่มันคือเรื่องจริงครับ นอกจากนั้นเราจะพาท่านไปดูกรรมวิธีในการผลิตกล้วยตากของที่นี้กัน ชาวบ้านในชุมชนเขมราฐธานี จะใช้กล้วยที่ปลูกกันในชุมชน ที่สุกแล้วมาปลอกเปลือก ใส่ลงในภาชนะแล้วทำการคลิก หรือกะดกให้กล้วยกระทบกับภาชนะกะละมังให้ซ้ำๆ

หลังจากนี้เราก็นำไปตากแดดประมาณ8แดดที่โรงตากที่ป้องกันฝุนและแมลงต่างๆอย่างดี ซึ่งในแต่ละแผงก็จะมีการเขียนวันเวลาที่ตากไว้ ว่าตากไปกี่ชั่วโมง กี่แดดแล้ว ซึ่งความหวานธรรมชาติของกล้วยที่ผ่านการตากนั้นก็จะค่อยๆออกมาจนกลายเป็นกล้วยตาก กล่องละ60บาท

อีกกิจกรรมที่ไม่น่าพลาดก็คือการทำแหนมใบมะยม ของดีเขมราฐต้นตำหรับญวน ซึ่งเป็นเมนูเด็ดของที่นี้ ที่สืบทอดมารุ่นสู่รุ่น โดยทำจากหนังหมูต้ม เนื้อหมูบดละเอียด ปรุงรสด้วยเกลือ ข้าวคั่วละเอียด ปั้นเป็นก้อน ห่อด้วยใบมะยม จากนั้นจึงห่อด้วยใบตองอีกชั้นนึง สามารถซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านได้นะครับบ

มาถึงอีกหนึ่งของดีที่เขมราฐนอกจากของกินแล้วก็ยังมีผ้าสวยๆ ให้ลองหัดทอผ้ามัดหมี่ที่บ้านวงศ์ปัดสา กลุ่มทอผ้าแม่ติ๋ว ในตำบลเขมราฐ ที่มีการสือทอดมายาวนานด้วยวิธีโบราณ วิธีย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้เรายังจะได้ความรู้ในเรื่องราวที่มาที่ไปของลายผ้าแต่ละลายที่มีชื่อเรียกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละผืนจะมีเรื่องเล่าและตำนานไม่เหมือนกัน และบ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้ที่เลือกผ้าลายนั้นๆอีกด้วย ให้เลือกซื้อไปฝากคนรู้ใจกันได้

หลังจากที่ได้เลือกซื้อของฝากกันไปเป็นทีเรียบร้อยแล้วก็จะยังสามารถไปเดินเล่นที่ถนนคนเดินต่อได้ ซึ่งเราจะสามารถเดินชมย่านเมืองเก่าที่มีอายุกว่า200ปี บ้านของขุนศรีภูรีประศาสน์ที่ยังคงความสวยงามให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาความเป็นมา นอกจากนี้แล้วยังมีร้านขายของที่ระลึกหรือร้านกาแฟน่ารักๆ ร้านเสื้อผ้าสวยๆ ที่พากันมาเปิดรับนักท่องเที่ยว ในช่วงเย็นวันเสาร์ และอาทิตย์ ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งสำหรับใครที่มาเที่ยวเขมราฐ

เหนื่อยมาทั้งวันแล้วสำหรับวันแรกของเรากลับมาพักผ่อนกันในตัวเมืองอุบลราชธานีกันดีกว่าครับ เราแนะนำ โรงแรม เป็นตาฮัก โรงแรมขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่แต่เป็นตาฮัก สมชื่อ ซึ่งในภาษาลาวแปลว่า น่ารัก ราคาไม่แพง สะอาดมีเอกลักษณ์ บรรยากาศทันสมัยแห่งนี้มีค็อฟฟี่บาร์, คอนเซียส และ จักรยานให้เช่า พนักงานของพร้อมให้บริการตลอดเวลาและสามารถจองตั๋วหรือทัวร์ต่างๆ ได้ด้วยเช่นกัน
ในห้องพักของโรงแรมมี ตู้เย็น, น้ำดื่มบรรจุขวด และ มินิบาร์ ที่นี่ยังบริการช่องรายการเคเบิลทีวี/สัญญาณดาวเทียม และ ฝักบัวอาบน้ำ เรียกว่าสิ่งอำนวยความสะดวกครบ โทรสอบถามหรือ สำรองห้องพักที่ 085-311 6088

หลังจากอาบน้ำพักเหนื่อยกันแล้วก็ได้เวลาไปทานอาหารเย็นซึ่งคืนนี้เราจะไปร้านชมจันทร์ ซึ่งติดกับแม่น้ำมูล บรรยกาศในร้านกว้างขว้างมากๆมีโซนให้นั่งมากมายทั้งบนดิน และในแพริมน้ำ มีห้องรองรับหรือด้านนอกมีให้เลือกมากมาย มีมุมเกร๋ๆให้ถ่ายรูป มีห้องพักบริการอีกต่างหาก มีดนตรีสดเล่น เรียกได้ว่ามาที่เดียวได้ครบจบที่ร้านเดียวเลย ร้านตั้งอยู่ที่ 199/8 ต.บุ่งไหม ถ.วาริน-อุบล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี 34190 เบอร์โทรศัพท์ 084 477 1999 สำหรับสำรองที่นั่งกันได้ รับรองไม่ผิดหวัง

มาเริ่มวันที่สองกันต่อเลยครับสำหรับวันนี้เราจะพาไปเส้นทางศึกษาธรรมชาติก็ลองมาที่ สวนพฤกษศาสตร์ดงฟ้าห่วน ในท้องที่ตำบลขามใหญ่ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงฟ้าห่วน มีพื้นที่ประมาณ 2,200 ไร่ ได้ชื่อว่าเป็นป่าในเมืองที่สมบูรณ์มาก ซึ่งภายในสวนก็จะมีสวนพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั้งไม้ดอก ไม้ยืนต้นซึ่งในสวนแห่งนี้มีต้นยางอยู่เยอะทีเดียว

 

หลุดจากป่าใหญ่ใจกลางเมืองอุบลแล้วเราก็ไปดูศูนย์โอท็อปไปดูผ้ัาทอกลีบบัว หรือกาบบัวในภาษาถิ่นเนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานี มีสัญญลักษณ์คือ ดอกบัว หรือเรียกกันอย่างคุ้นหู ว่า เมืองดอกบัว
ดังนั้นคนเฒ่าคนแก่ ท่านเลยได้ตั้งชื่อว่า ผ้ากาบบัว เป็นผ้าประจำจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับศูนย์โอท็อป ก็จะมีร้านผ้าหลากหลายให้เลือกซื้อเลือกลองหลากหลายราคา
หัตถกรรมผ้าไหมบ้านปะอาว สนใจติดต่อ ตำบลปะอาว อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี คุณทัศนีย์ พรสี่ โทร. 081-0761249 หรือ คุณเตือนใจ แก้ววงศา โทร 082-1537364 ที่อยู่ 36 หมู่ที่ 5 ตำบลปะอาว อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 34000

ได้ผ้า(อีกแล้ว)ก็ไปกันต่อที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งเราจะพาไปลองแพชมวิถีชีวิตของชาวบ้านในเขื่อนสิรินธรซึงเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อยอันเป็นสาขา ของแม่น้ำมูล ที่บริเวณแก่งแซน้อย ตำบลช่องเม็ก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี นอกประโยชน์ในการผลิตกำลังไฟฟ้าแล้ว เขื่อนสิรินธรยังเป็นแหล่งประมง และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมในแพนั้นก็จะมีอาหารให้เราได้ทานหรือจะร้องก็มีนะครับสามารถไปกันได้เป็นหมูคณะ มีจุดแวะให้เราขึ้นไปถ่ายรูปสวยๆกับเขื่อนหรือจะเล่นน้ำก็มีจุดให้เล่นน้ำกันได้ นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมให้ลองได้ลองทำปลาซิวแก้วสามรส ซึ่งเป็นสินค้าชุมชน ผลผลิตจากเขื่อน มีพาไปไหว้พระที่วัดป่าโพธิญาณ ซึ่งเป็นวัดป่าในเขื่อนสิรินธร ก่อนกลับขึ้นฝั่ง

 

หลังจากที่ชมพระอาทิตย์ตกลงหลับขอบฟ้าในเขื่อนสิรินธรไปแล้ว ห่างออกไปจากเขื่อนไม่ไกลเราจะพาท่านไปดูความสวยงามของวัดเรืองแสง หรือวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ตั้งอยู่ที่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาศ บริเวณบนยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีปัดทองตั้งเด่นเป็นสง่า จุดเด่นของวัดคือ การได้มาชมภาพเรืองแสงเป็นสีเขียวของของต้นกัลปพฤกษ์ที่เป็นจิตรกรรมที่อยู่บนผนังด้านหลังของอุโบสถในยามค่ำคืน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมาชมและถ่ายภาพคือ ตั้งแต่เวลา 6.00.19.30 น. ซึ่งหากโชคดีก็จะได้เห็นดวงดาวมากมายเต็มท้องฟ้า อีกด้วย แต่ภาพเรืองแสงนี้หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเพียงเล็กน้อย จะไม่เห็นเป็นสีเขียวชัดเจนเท่ากับภาพที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพ สำหรับต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสง เป็นฝีมือการออกแบบของช่างคุณากร ปริญญาปุณโณ ผู้ลงมือติดโมเสกแต่ละชิ้นด้วยตัวเอง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้แห่งชีวิต ในภาพยนตร์เรื่องอวตาร โดยใช้สารเรืองแสง หรือ สารฟลูออเรสเซนต์รอบต้น คุณสมบัติของสารฟลูออเรสเซนต์จะรับแสงพระอาทิตย์ ในตอนกลางวัน และจะเรืองแสงในเวลากลางคืน

ชมความสวยงามของวัดภูพร้าวเสร็จแล้ววันนี้เรากลับเข้าตัวเมืองอุบลคืนนี้จะพาไปชิลที่ร้านน้ำเต้าหู้เตาถ่านสุดชิคเกร๋ๆ ที่ร้าน126 ซึ่งเป็นร้านที่มีการตกแต่งแบบคลูๆนั่งสบายๆชิลๆด้วยเพลงและดนตรีสดเล่นเพราะๆ ด้านหลังร้านก็มีอีกพื้นที่สีเขียวหลังบ้านนั่งชิลแยกออกไปอีก สำหรับใครที่ไม่อยากกินน้ำเต้าหู้ก็ยังมีอาหารอย่างอื่นบริการกันอีกด้วยเรียกได้ว่าครบเครื่องเรื่องดื่มกินเลยก็ว่าได้ ตัวร้านตั้งอยู่ 126 ราชบุตร เทศบาลนครอุบลราชธานี โทร 081 854 1558 กินอิ่มสบายท้องแล้วก็พักผ่อนเอาแรงเพราะพรุ่งนี้เรายังมีภาระกิจอีกมากมาย

สำหรับโปรแกรมในวันสุดท้ายนี้เราก็จะพาไปตามหาเรื่องราวที่มีเอกลักณ์ของชาวบ้านชีทวน ชุมชนโบราณที่มีเรื่องราวมายาวนาน โดยมีเรื่องเล่าว่า บ้านชีทวนแต่เดิมเป็นถิ่นของพวกขอม ชื่อนครลำดวน ต่อมานครลำดวนร้างไป พระประทุมวงศา เจ้าเมืองอุบล จึงให้ท้าวโหงนคำพร้อมราษฎรอีก150 ครัวเรืองเดินทางมาตามลำน้ำชี มาถึงโนนลำดวนช้าง หรือนครลำดวงได้เห็นเมืองปรักหักพัง และมีหัวหน้าขอมนั่งเฝ้าอยู่ จึงเข้าไปสอบถาม หัวหน้าขอมจึงเชิญท้าวโหงนคำสร้างเมือง ณ เมืองแห่งนี้ ในปี พ.ศ.2324 จึงได้ลงหลักปักเสาเป็นปฐมฤกษ์ และตั้งชื่อเมืองว่า “ซีซ่วน”โดยมีความหมายตามภูมินิเวศที่แม่น้ำชีที่มีการไหลน้อนขึ้น และเปลี่ยชื่อเป็น “ชีทวน”ในปัจจุบันนั่งเอง นอกจากนี้แล้วภายในบ้านชีทวนยังมีสะพานขัวน้อย ซึ่งเป็นสระพานแห่งศรัทธาที่เชื่อต่อระหว่างชุมชนหนองแคกับบ้านชีทวนซึ่งอยู่คนละฝั่งของสะพาน แต่เดิมเป็นเพียงคันดินผ่านทุ่งนา ก่อนที่จะสร้างเป็นสะพานไม้ และต่อมาได้ชำรุด ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตขึ้นมาแทนในปัจจุบัน

ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก ณ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ สร้างประมาณปี พ.ศ. 2468-2470 ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์บ้านชีทวน เป็นงานศิลปกรรมที่เกิดจากการผสมผสานความคิดแบบไทยกับฝีมือของช่างญวนหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “แกวเวียง” รูปแบบจะก่อด้วยปูนเขียนสีด้วยลายต่างๆ พร้อมงานจิตรกรรมฝ้าเพดานศาลาการเปรียญเป็นธรรมมาสน์ที่แปลกและมีอยู่หลังเดียวในประเทศไทย เป็นธรรมาสน์ที่แตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไปกล่าวคือ มีลักษณะเป็นรูปสิงห์ยืนเทินปราสาท (ตัวธรรมาสน์) สร้างด้วยอิฐถือปูน ยอดปราสาทเป็นเครื่องไม้ทำเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นประดับตกแต่งลายปูนปั้น และลายเขียนสีแบบศิลปะญวนทั้งหลัง และถือเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง

นอกจากนี้แล้วภายในวัดศรีธาตุเจริญสุขฝั่งหนองแคนยังมีตลาดย้อนยุค และภายในวัดยังมีพระพุทธรูปไม้1000ปี (พระพุทธศรีธาตุมลคลเนรมิต) ให้แวะขอพร

วัดทุ่งศรีวิไล วัดนี้มีหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินศิลาแลงแกะสลักปางนาคปรก ศิลปะทวารวดี เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่เคารพสักการะของชาวบ้านชีทวน บริเวณวัดยังมีใบเสมาหลายชั้นล้อมรอบอุโบสถและวิหารหลังเก่าไปจนถึงกำแพงรอบวัดทุกทิศตลอดทั้งสระน้ำใหญ่ รวมทั้งหอไตรและธรรมาสน์ซึ่งก่อด้วยอิฐในสมัยนั้น

หลังจากเสร็จภาระกิจที่บ้านชีทวนแล้วเราก็กลับเข้าสู่ตัวเมืองอุบลเพื่อเติมกาแฟอีนกันที่ร้าน Saloon cafe เป็นร้านกาแฟที่มีความคลูเกร๋ กู้ดด้วยการตกแต่งที่น่านั่ง ในส่วนของเครื่องดื่มนั้นก็มีให้เลือกมากมายไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ร้อนเย็น ขนมอร่อยๆก็มีให้กินคู่กับกาแฟนะเธอ รับรองใครชวนเพื่อน ชวนแฟนมาไม่มีผิดหวังแน่นอนครับ ร้านตั้งอยู่ที่ 636-638 ถนนพิชิตรังสรรค์ อำเภอเมือง เทศบาลนครอุบลราชธานี โทร 045 241 197

หลังจากเติมกาแฟเข้าสู่กระแสเลือดกันแล้ว บางคนอาจจะยังไม่อิ่มท้องก่อนจะกลับเมืองกรุงเรายังมีทีเด็ดปิดส่งท้ายทริปนี้กันอีกอย่าง นั้นก็คือ ก๋วยจั๊บญวน ซึ่งใครที่มาอุบลแล้วไม่ได้กินก๋วยจั๊บญวนที่นี้ถือว่าพลาดและมาไม่ถึงบุบลกันนะจ้า ว่าแล้วเราก้จะพาเพื่อนๆไปที่ร้าน 99 ก๋วยจั๊บญวนรสแซ่บ ตั้งอยู่ที่ 97 ถนนพิชิตรังสรรค์ ตำบลในเมือง, เมืองอุบลราชธานี, สามารถโทรไปสอบถามได้ที่ 045 -260 424 ซึ่งร้านนี้นั้นทีเด็ดอยู่ที่น้ำซุปที่เข้มข้นเข้ากระดูกเลยก็ว่าได้ เส้นสดใหม่พิเศษที่มีความเหนียวนุ่มกำลังดี ส่วนเครื่องเคียงนั้นก็มีให้เลือกมากมายตามใจชอบ ทั้งตีนไก่ น่องไก่ ซี่โครงอ่อน หรือจะใส่ไข่นกกระทา ก็อร่อยไปอีกแบบนะนายจ้า ส่งท้ายกันแบบให้อิ่มอร่อยขนาดนี้ คงจะทำให้ลืมอุบลราชธานีไม่ลงกันเลยทีเดียว

นอกจากสถานที่เที่ยว ที่รอบนี้เที่ยวติดดินได้พาเพื่อนๆไปชมความสวยงามกันแล้ว จังหวัดอุบลราชธานีก็ยังมีสถานที่เที่ยวอีกๆมากมายหลายอย่างที่รอให้คุณมาสัมผัส ได้หลากหลายรูปแบบ จะเที่ยวแบบลุยๆ จะกินให้ท้องแตกอ้วกแตน จะไปเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีต่างๆของชาวอีสาน ในจังหวัดอุบลก็มีให้เลือกได้มาได้หลายช่วง และทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยที่เราพาเพื่อนๆมาสัมผัสกับเมืองน่ารักๆแห่งนี้ แล้วครั้งหน้าเราจะพาคุณไปเที่ยวแบบติดดินกันใหม่นะครับบ

ขอบคุณรายการหลงรักยิ้ม ที่พามาเปิดประสบการณ์หลงรักในเมืองอุบลราชธานีแห่งนี้

ขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคอีสาน