จังหวัดอุบลราชธานี นับเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคอีสานที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายเหลือเกิน อีกทั้งยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วํฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่ยุคขอมโบราณ พอได้มาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยถิ่นอีสาน จึงเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้ เที่ยวติดดิน จะขอพาไปทัวร์เมืองอุบลฯ กันให้เต็มอิ่ม ส่วนจะเป็นที่ไหนบ้างตามมาโลด..
ขอเริ่มจากสักการะ ศาลหลักเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยกันก่อน
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และถือได้ว่าเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานีเลยก็ว่าได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า “วัดสุปัฎนาราม” อันหมายถึง วัดที่มีสถานที่ตั้งเหมาะสม เป็นท่าเรือที่ดี สิ่งที่สำคัญภายในวัดได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถ นามว่า พระสัพพัญญูเจ้า , พระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) , พระพุทธรูปประทานพร สมัยสุโขทัย 1 องค์ , พระพุทธรูปศิลา นาคปรกสมัยลพบุรี 3 องค์ , พระพุทธรูปประทานพร สมัยอยุธยา 1 องค์ , พระแก้วขาวเพชรน้ำค้างสมาธิ 1 องค์ , พระบรมสารีริกธาตุ และอรหันตธาตุ , รูปหล่อ (โลหะ) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์ ศุภสร) , รูปหล่อ (โลหะ) สมเด็จพระมหาวีรวงค์ (ติสโส อ้วน แสนทวีสุข) , หอพิพิธภัณฑ์วรวัตถุโบราณต่าง ๆ , หอปริยัติธรรม อาคารเรียนตึกวิทยาคาร เป็นที่ตั้งยุวพุทธิกสมาคมและศูนย์พุทธเยาวชนเป็นศูนย์กลางการศึกษา ทั้งนักธรรม บาลีและสามัญศึกษา
วัดหนองป่าพง ถือกำเนิดมาจาก หลวงปู่ชา ที่บุกเบิกมาจากป่าทึบรกร้างที่ชุกชุมไปด้วยไข้ป่าและสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งแรงศรัทธาของญาติโยมชาวบ้านก่อและบ้านกลาง จนกระทั่งเป็นวัดที่เป็นมีชื่อเสียงและสำคัญอีกหนึ่งแห่งของจังหวัดอุบลราชธานี วัดแห่งนี้นับเป็นเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ มุ่งหมายที่การประพฤติพรหมจรรย์ตามรอยพระยุคลบาทของพระโคตมพุทธเจ้าที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพในป่า เพื่อค้นคว้าแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วทรงนำความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น มาเผยแผ่เกื้อกูลความสุขแก่มหาชนทั่วไป อีกทั้งยังมีความแตกต่างจากวัดอื่นคือ มีการกำหนดข้อกติกาสงฆ์ ซึ่งเลือกสรรมาจากธรรมและวินัยของพระโคตมพุทธเจ้า โดยมิได้เพิกถอนหรือบัญญัติสิ่งใดเพิ่มเติม เพียงแต่นำธรรมและวินัยมาประกอบกันขึ้นเป็นกฎกติกา เพื่อควบคุมความประพฤติของภิกษุสามเณร ไม่ให้ออกจากแนวทางของพระพุทธองค์
ทุ่งดอกกระดุมเงินหนองหญ้าม้า นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ที่กำลังมาแรงในขณะนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งในช่วงหน้าหนาวของทุกปีพื้นที่ทุ่งโล่งที่อยู่ในความดูแลของ มทบ.22 แห่งนี้ ซึ่งปกติจะใช้เป็นที่ซ้อมยิงปืนใหญ่ของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 6 ซึ่งจะทำการฝึกยิงปืนใหญ่ด้วยกระสุนจริง ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะกลายเป็น ทุ่งดอกกระดุมเงิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หญ้าหัวหงอก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้พระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นามว่า มณีเทวา จำนวนมากมายออกดอกผลิบานสวยงามให้สีขาวนวลสุดลูกหูลูกตา นับเป็นความงามของสิ่งเล็ก ๆ ที่ธรรมชาติรังสรรให้เกิดความสวยงามเกินคำบรรยาย
ภายใน อุทยานแห่งชาติผาแต้ม นั้นนอกจากจะมีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าแล้ว น้ำตกสร้อยสวรรค์ ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่เที่ยวในอุทยานฯ ที่คนนิยมไป ซึ่งน้ำตกแห่งนี้เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่ไหลจากหน้าผาสูงชันสองด้านประมาณ 20 เมตร ของลำห้วยสร้อยและลำแซไผ่ ตกลงมาบรรจบกันคล้ายกับสายสร้อยก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง นอกจากนี้บริเวณน้ำตกยังมีต้นไม้และดอกไม้ป่า ที่มาช่วยเสริมบรรยากาศและความงามจนใครต่อใครที่ได้พบเจอเป็นต้องประทับใจไม่แพ้กับทุ่งกระดุมเงินเลยทีเดียว
สำหรับคนที่ชื่นชอบการเดินชมป่าไม้และพรรณพืช ในอุทยานแห่งชาตผาแต้มยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่าง ป่าดงนาทาม ซึ่งนอกจากพืชพรรณและดอกไม้ป่าแล้ว ยังมีน้ำตกขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะ ผาชนะได จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยอดนิยมซึ่งเป็นหน้าผาที่มีความสูงชันมาก สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ต้องมาชมพระอาทิตย์ขึ้นที่นี่ก็เพราะว่า ที่แห่งนี้สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนจุดใดในประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดที่กรมอุตุนิยมวิทยาใช้อ้างอิงในการกำหนดเวลาพระอาทิตย์ขึ้นแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย ส่วนใครชอบแสงทไวไลท์ยามเย็นรอตะวันลับขอบฟ้าก็ต้องไปชมที่ เสาเฉลียงคู่ จุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดใน จ.อุบลฯ ปรากฏการณ์ธรรมชาติของแท่งหินรูปร่างคล้ายกับดอกเห็นยักษ์ 2 แท่ง ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ ลม และ แสงแดดมานานหลายร้อยปี นับเป็นความแปลกและอัศจรรย์ที่ดันสวยงามและเข้ากันได้ดีกับบรรยากาศยามพระอาทิตย์ตกดินเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อยามที่ตะวันลาลับไปแล้ว เรายังสามารถชมแสงดาวที่ระยิบระยับเต็มฟ้าด้วยการนอนเต็นท์ที่ป่าดงนาทามแห่งนี้ก็ได้เช่นกัน
วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือนิยมเรียกกันว่า วัดเรืองแสง นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สวยงามแปลกตา จนกลายเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและช่างภาพ ที่ตั้งใจมาชมความงดงามของอุโบสถที่จะมี ต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสง ในยามค่ำคืน ซึ่งที่แห่งนี้เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาศ บริเวณบนยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีปัดทองตั้งเด่นเป็นสง่า นอกจากงดงามอันแสนมหัศจรรย์ของพระอุโบสถแล้ว บริเวณด้านหลังพระอุโบสถยังเป็นจุดชมวิวลำน้ำโขงที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของฝั่งประเทศลาว และมองเห็นด่านสากลช่องเม็กอย่างสวยงาม รวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่อยู่บริเวณเชิงเขาคล้ายกับทะเลสาปอีกด้วย
เขื่อนสิรินธร ก็เป็นอีก 1 สถานที่ท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพสวยงามไม่แพ้ที่ใด ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะนิยมชมทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำเหนือสันเขื่อน และเดินชมความร่มรื่นของพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ใน สวนสิรินธร ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 3 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2533 ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของสันเขื่อนริมอ่างเก็บน้ำ ภายในสวนยังมีประติมากรรมรูปช้าง 3 เชือก ตีระนาด สีซอ และเป่าขลุ่ย ซึ่งเครื่องดนตรีทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นเครื่องดนตรีที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงโปรดปราน
แก่งสะพือ ก็นับเป็นแก่งที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นแก่งที่อยู่ในแม่น้ำมูลเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปประมาณ 45 กิโลเมตร แก่งสะพือ เป็นแก่งที่มีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านกระทบหินแล้วเกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา ซึ่งที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ยังเคยเสด็จพระราชดำเนินมาชมความสวยงามของแก่งนี้ด้วยถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี เทศบาลตำบลพิบูลมังสาหารยังได้จัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีอันดีงามเอาไว้อีกด้วย
บ้านชีทวน อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีไฮไลท์ยอดนิยมอยู่ที่ ขัวน้อยบ้านชีทวน หรือก็คือสะพานข้ามทุ่งนา ที่เอาไว้ให้คนสัญจรไปมาระหว่างชุมชนบ้านหนองแคนกับบ้านชีทวน สะพานนี้แต่เดิมทีเป็นเพียงแค่คันดินเท่านั้น เมื่อถึงหน้าฝนก็ทำให้การสัญจรลำบากมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านจึงได้นำเอาไม้จากเรือเก่า ๆ และไม้ที่เหลือจากการเผาศพมาทำเป็นสะพาน ช่วยให้เดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น ภายหลังจึงได้จัดผ้าป่าสามัคคีสร้างขัวน้อยและกลายเป็นสะพานคอนกรีตยามข้ามผ่านทุ่งนาที่เขียวขจีอย่างเช่นในปัจจุบัน กับอีกหนึ่งกิจกรรมสำหรับใครที่ได้มีโอกาสมานอนพักที่ โฮมสเตย์บ้านชีทวน แห่งนี้ เช้า ๆ ยังจะได้ร่วมกันกับชาวบ้านทำบุญตักบาตรข้าวเหนียว ซึ่งชาวบ้านที่นี่จะนิยมใส่บาตรเฉพาะข้าวเหนียวเท่านั้น ส่วนอาหารคาวหวานจะใส่ปิ่นโตนำไปถวายที่วัดอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามาในช่วงงานประเพณีที่สำคัญ ก็ยังจะได้เห็นการแต่งกายแบบชาวอีสานโบราณอีกด้วย
อย่างที่เราได้เดินทางมาในวันนี้ก็ตรงกับอีกหนึ่งประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญและน่าสนใจ ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง นั้นก็คือ งานเทศน์ปฐมสมโพธิแบบโบราณ ณ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นการเทศน์โดยใช้ใบลานที่จารึกเป็นอักษรธรรม และทำนองการเทศน์จะเป็นทำนองอีสาน บน ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก ศิลปกรรมผสมผสานของช่างชาวไทยชีทวนและช่างชาวเวียดนาม ที่มีลายวิจิตรงดงามอ่อนโยน การอนุรักษ์ฟื้นฟูการเทศน์ในรูปแบบโบราณนี้จะเริ่มตั้งแต่ขบวนอัญเชิญองค์เทศน์ ที่ประกอบไปด้วยผู้เข้าร่วมขบวนมากมาย และถูกแบ่งออกเป็น 6 ขบวน ได้แก่ ขบวนฆ้อง , ขบวนเป่าหอยสังข์ , ขบวนตุง , ขบวนขันหมากเบ็ง ต้นเงินแบบโบราณ และ เสลี่ยงพระแบบโบราณ โดยจะทำการเดินขบวนจากวัดทุ่งศรีวิไล มายัง วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์