“ยวนต้นตาลเสาไห้” วันเดียวก็หลงรัก

เที่ยวไหนดีมีเวลาแค่ 1 วัน ขอใกล้ๆ ขับรถชั่วโมงกว่าๆ ได้ทั้งย้อนยุค ไหว้พระ อาหารอร่อย “เที่ยวติดดิน” มี One Day Trip อยากแนะนำในจังหวัดสระบุรี ที่ ชุมชนบ้านต้นตาล อ.เสาไห้ มีอะไรให้เที่ยวบ้างมาดูเลย!

>>หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน<<

ก่อนถึงตัวเมืองสระบุรีให้เลี้ยงซ้ายไปตามถนนเลี่ยงเมือง ลพบุรี-เพชรบูรณ์ ข้ามสะพานแม่น้ำป่าสัก ไปตามทางหลวง 3225 ประมาณ 3 กม. ชาวไทยยวนนั้นสืบเชื้อสายมาจาก ไตยวน (หรือคนเมือง) ซึ่งเป็นชาวยวน หรือชาวโยนกจากนครเชียงแสนโบราณ เมื่อรัชกาลที่ 1 ยกทัพหลวงไปยึดเชียงแสนคืนจากพม่า แล้วกวาดต้อนชาวเชียงแสนกว่าสองหมื่นคนให้ไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ และส่วนหนึ่งเดินทางมาบางกอกเพื่อแปงเมืองใหม่ โดยอาศัยอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทั้งสองฝั่งคือสระบุรี และอีกส่วนหนึ่งไปอยู่ราชบุรี

ที่นี่สร้างขึ้นโดยอ. ทรงชัย วรรณกุล ปราชญ์ท้องถิ่นเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ศิลปะการแสดง ไม่ว่าจะเป็น การฟ้อนรำ ทำอาหาร การทำโคม ตุง การทอผ้า ภายในบ้านทรงไทยโบราณอายุกว่า 100 ปีริมแม่น้ำป่าสัก หากใครติดใจก็มีบริการโฮมสเตย์ให้พักพร้อมกิจกรรมากมาย

ที่ตั้ง: หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไท-ยวน ตั้งอยู่ บริเวณ กม.3 ถ.สายสระบุรี-ปากบาง บ้านโตนด ต.ดาวเรือง อ.เมือง จ.สระบุรี

>>วัดเขาแก้ววรวิหาร<<

ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน ภายในวัดมีเจดีย์ห้ายอดที่รูปทรงสวยงาม บรรจุพระบรมธาตุ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระปางห้ามสมุทร มีเรื่องเล่าว่าชาวบ้านเคยเห็นดวงแก้วสุกสว่างเหนือวิหารวัดเขาแก้ว เชื่อกันว่าแสงสีเขียวที่สว่างเรืองขึ้น ในวัดยังมีตำนานเกี่ยวกับพญานาคว่า มีถ้ำที่พญานาคขึ้นมาเพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และมี “ปล่องนาค” ยาวจากวัดไปโผล่ที่แม่น้ำป่าสัก เชื่อกันว่าเป็นทางเดินของพญานาคที่ลงไปสู่แม่น้ำ ทางขึ้นวัดจึงสร้างเป็นบันไดนาคทอดยาวขึ้นไปนั่นเอง

>>วัดต้นตาล<<เป็นศาสนสถานประจำบ้านต้นตาลสร้างใน สมัย พ.ศ.2210 ยุคกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมบริเวณนั้นเต็มไปด้วยต้นตาลมากมาย จึงเรียกนามว่า วัดต้นตาล และเป็นสถานที่ตั้งของตลาดต้นตาลอีกด้วย

>>โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ <<

ถือว่าเป็นสถานที่ที่ห้ามพลาดเลยเพราะท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นพื้นที่ตักน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นหนึ่งในเบญจสุทธิคงคา น้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำสายสำคัญ 5 สายที่ใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒสัตยาอันศักดิ์สิทธิ์ (พิธีบรมราชาภิเษก) ของราชวงศ์จักรีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดให้นำน้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา (จากจังหวัดอ่างทอง) แม่น้ำเพชรบุรี (จากจังหวัดเพชรบุรี) แม่น้ำราชบุรี (จากจังหวัดสมุทรสาคร) แม่น้ำบางปะกง (จากจังหวัดนครนายก) และแม่น้ำป่าสัก (จากจังหวัดสระบุรี ซึ่งมาเอาที่ท่าราบ ไม่ได้ไปเอาที่วัดเหมือน 4 แห่ง)

 

>>ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล<<

คำว่า “ต้าน้ำ” ก็คือสำเนียงคำเมือง ที่หมายถึง “ท่าน้ำ” เปิดเฉพาะวันอาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น. อยู่ใกล้กับท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถมาได้ทั้งทางเรือและขับรถ เป็นตลาดริมแม่น้ำป่าสัก จำหน่ายอาหารพื้นเมืองทั้งคาว-หวาน เช่น หมี่แจ๊ะ (ผัดหมี่ไทยวนโบราณ) ข้าวแคบ (ข้าวเกรียบ) หมี่กรอบ แป้งจี่ ไข่ป่าม ขนมกง และสินค้าพื้นบ้านต่างๆ เช่น ผ้าทอไทยวน รวมทั้งการแสดงวัฒนธรรม เช่น การฟ้อนจ้อง ฟ้อนขันดอก (การฟ้อนมีแสดงรอบเดียวเวลา 12.00 น.)

เรียกว่าวันเดียวก็ทำให้หลงรักที่นี่ได้ง่ายๆแบบไม่รู้ตัวเลยทีเดียว และถ้าอยากอินมากกว่านี้แนะนำให้นุ่งซิ่น หรือผ้าไทย มาเที่ยวจะได้รรรยากาศสุดๆ เพราะมีมุมสวยๆให้ถ่ายรูปเพียบ รับรองว่ามาแล้วจะติดใจยวนต้นตาล….

นอกจากเดินตลาดต้าน้ำต้นตาลกันแล้วภายในบริเวณใกล้ๆเราก็จะพาไปเที่ยวชมของเด่นที่เสาไห้อันแรกจะพาไปชมวิธีการทำหมี่กรอบแม่นิด ซึ่งเป็นของฝากที่มาที่ ตลาดต้นตาลหรืออำเภอเสาไห้แล้วไม่ซื้อกลับไปถึงว่ามาไม่ถึงกันนะครับ

ต่อมาเราก็จะพาไปทำขนมกงกันซึ่ง เป็นขนมไทยพื้นบ้านภาคกลางทีนิยมใช้ในขันหมากแต่งงาน คำเรียก กง กงล้อ มีที่มาจากลักษณะเป็นวงกลมมีเส้นไขว้พาดคล้ายกับกงล้อของเกวียน หรือ ล้อรถในสมัยปัจจุบัน ซึงตีความถึงการหมุน ความก้าวหน้า

ส่วนผสมของขนมกงนิยมเอาแป้งจากธัญญพืชชนิดต่าง ๆ เช่น แป้งข้าวเม่า ข้าวตอก แป้งถั่ว นำมากวนกับกะทิและน้ำตาลให้เหนียว จากนั้นนำมาปั้นเป็นตัวขนม เวลาทอดชุบด้วยแป้งผสมกะทิ บางแห่งใช้สูตรสมัยใหม่จะได้ลักษณะของฟองขนมเป็นปุ่ม ฟอง เนื้อคล้ายกับแป้งชุบทอดของข้าวเม่า แต่ขนมกงโบราณสูตรจากบ้านของฉัน ฟองขนมจะมีลักษณะเป็นฟองนุ่ม สืบทอดมาจากต้นตำหรับของป้าแก้วกำพร้าเป็นผู้ถ่ายทอดให้ไว้

คนไท-ยวน จังหวัดสระบุรีเรียกฟองขนมกงลักษณะดั้งเดิมแบบนี้ว่า “หัวแก้ว หัวแหวน” นอกเหนือจากความก้าวหน้าของชีวิตแล้ว ถ้าขนมกงมี “หัวแก้ว หัวแหวน”ก็ยังหมายถึงมีทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองด้วย ขนมกงจึงนิยมนำไปอวยพรในวาระมงคลต่าง ๆ นอกเหนือจากการประกอบในงานแต่งงาน

ปัจจุบันยังพอจะมีคนทำขนมกงแบบโบราณอยู่ไม่กี่คนแล้ว เพราะการทำขนมให้ได้ฟองขนมแบบนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอย่างมาก ส่วนใหญ่จึงหันไปใช้ส่วนผสมแป้งสมัยใหม่ อาศัยแป้งสาลี และ ไข่แดง เป็นตัวช่วยแทน สูตรสมัยใหม่ทำให้เปลือกขนมกรอบแต่ว่าทอดแล้วไม่มีฟองอากาศ

และสุดท้ายนี้เราก็จะพาไปศึกษาเรียนรู้กิจกรรมการทอผ้า ซึ่งฝีมือในการทอผ้าและลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าทอ ของชาวบ้านต้นตาล บ่งบอกได้ถึงอัตลักษณ์และขนบธรรมเนียมแบบไท-ยวนได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นชุนชมดั้งเดิมในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวน ซึ่งมีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 200 ปี ภายหลังได้มีการก่อตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าขึ้น เพื่อใช้เวลาว่างสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การทอผ้าสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ผ้าทอที่นี่จะมีหลายแบบ ได้แก่ ผ้าขาวม้า ผ้าพื้น ผ้าสี่เขา ผ้าลายดอกพิกุลซึ่งเป็นลายโบราณของคนไท-ยวน ส่วนลักษณะเด่นในงานผ้าทอของชาวไท-ยวนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผ้าพื้นไม่มีลาย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ใช้เส้นด้ายสีเดียวกันทอเป็นลายขัดธรรมดา ประเภทที่สองเป็นผ้ามีลาย ได้แก่ ผ้าลายขิด ผ้าจก ผ้ามุก ผ้าโสร่ง ผ้าหลาบ ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าทอจะอยู่ตรง “เล็บ” ด้านล่างสุดของชายผ้า จะเก็บเป็นสีเหลืองเรียบร้อย แสดงออกถึงความประณีตในการทอ

เนื่องจากศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าตำบลต้นตาล มีส่วนช่วยในการรื้อฟื้นวัฒนธรรมทอผ้าขึ้นมาอีกครั้ง ชุมชนแห่งนี้จึงได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2551 รางวัลดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม ใครชอบท่องเที่ยวชุมชนเรียนรู้วัฒนธรรมของผู้คนพื้นถิ่น บ้านต้นตาลนับเป็นอีกแห่งที่น่ามาเยือน เพราะมีบริการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ การแสดงวัฒนธรรม ศูนย์แสดงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชน ก่อนกลับยังเลือกซื้อผ้าทอไท-ยวน ไปเป็นของฝากได้อีกด้วย

วิถีชีวิตของชาวไทยยวนที่สืบสายกันมาถึง5ชั่วคน หรือกว่า200ปีที่ได้รับการฟื้นฟูเพื่อนำ เสน่ห์ คุณค่าแห่งโยนกเชียงแสน กลับมาเป็นต้นทุนเพื่อรับใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ทั้งหมดที่เที่ยวติดดินนำมาเสนอกันกันนั้นเป็นเพียงแค่กิจกรรมในหนึ่งวันที่เราพาเพื่อนๆไปเที่ยวกัน ถ้าใครที่อยากมาสัมผัสวิถีชีวิตไทยยวนอันแท้จริงแล้วละก็ต้องมานอนสักคืน แล้วซึมซับบรรยากาศวิถีที่ยังคงรักษาอัตรักษ์ ไทยวนสระบุรี ไว้อย่างดี

ขอขอบคุณกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม