ทุกพื้นที่ในประเทศไทยเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีที่ไหนเลยที่ย่างก้าวพระบาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของคนไทยทุกคนจะไม่ทรงเสด็จไปถึง ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะทุรกันดาร ยากลำบาก หรืออันตรายเพียงใด พระองค์ก็จะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ เพื่อรับรู้ถึงปัญหาและหาทางแก้ไขให้แก่ราษฎรของพระองค์ จึงนำมาซึ่งโครงการพระราชดำริต่าง ๆ กว่า 4000 โครงการ เรียกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าจะต้อง “ตามรอยพระบาท” ของพระองค์ไปในทุกที แต่อย่างน้อยในวันนี้เราก็จะขอพาไปเส้นทางตามรอยพระบาทกันที่ พิษณุโลก และ เพชรบูรณ์ ที่น่าจะพอทำให้ลูกของพ่ออย่างเราได้คลายความคิดถึง และรำลึกถึงความเสียสละของพระองค์ไปได้บ้างไม่มากก็น้อย
สวนรุกขชาติสกุโณทยาน เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จประพาสพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2501 ทรงโปรดเกล้าพระทานนาม สกุโณทยาน แทนคำว่า วังนกแอ่น ซึ่งเคยใช้อยู่เดิมเมื่อครั้งที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็น วนอุทยานวังนกแอ่น สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจากนั้นกรมป่าไม้ได้เปลี่ยนชื่อจาก วนอุทยานสกุโณทยาน มาเป็น สวนรุกขชาติสกุโณทยาน ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ นอกจากชื่อที่ทรงประทานให้แล้ว ในการเสด็จประพาสครั้งนั้นทั้ง 2 พระองค์ยังได้ทรงปลูกต้นไม้ไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สถานที่ โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงปลูก ต้นประดู่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความมั่นคง ความสามัคคีของประชาชน และประเทศชาติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูก ต้นพยอม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชื่อเสียง เกียรติยศ และเป็นมิ่งขวัญของคนไทยทั้งชาติ ปัจจุบัน ต้นไม้ของพ่อ และ ต้นไม้ของแม่ ได้เจริญเติบโตเป็นมิ่งขวัญให้กับชาวพิษณุโลกและคนไทยทั้งหลายที่เข้าไปยังสวนรุกขชาติแห่งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้รำลึกถึงและช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมตามรอยพ่อและแม่ของแผ่นดิน
ภายในสวนรุกขชาติสกุโณทยาน ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ น้ำตกสกุโณทยาน น้ำตกชั้นเดียวขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 10 เมตร กว้างประมาณ 60 เมตร และเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำเข็ก ซึ่งเดิมทีน้ำตกแห่งนี้เคยมีชื่อว่า น้ำตกวังนกแอ่น ก่อนจะเปลี่ยนชื่อไปตามชื่อของวนอุทยานฯ ในปัจจุบัน พลับพลารับเสด็จ และ ศาลาวนาศัย ริมน้ำตกสกุโณทยาน ที่มีอายุกว่า 58 ปี พลับพลาที่ประทับเพื่อชมความสวยงามของน้ำตกเมื่อครั้งที่ทรงเสด็จประพาสยังสวนรุกขชาติสกุโณทยานแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางกว่า 1 กม. ที่มี ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ พร้อมกับกิจกรรมพักผ่อนสบาย ๆ อีกหลายกิจกรรม อีกทั้งยังสะดวกไปลานจอดรถขนาดใหญ่ ร้านค้าบริการอาหาร-เครื่องดื่ม และร้านของฝากของที่อีกระลึกมากมาย
โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้า
ตั้งอยู่ภายในเขต อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ท่ามกลางธรรมชาติที่เขียวขจี อีกทั้งบริเวณนี้ยังมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปีอีกด้วย ที่นี่นับเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาป่าไม้ ฟื้นฟูสภาพป่า เพาะชำกล้าพันธุ์ไม้หายากที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อปลูกตามแนวพระราชดำริ รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับราษฎร นอกจากนี้ยังมีแปลงสาธิต การปลูกสตอรว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน ปลอดสารพิษ และแปลงปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ให้เราได้เข้าไปชมได้อย่างใกล้ชิด และหากมีโอกาสได้แวะมาเที่ยวในช่วงหน้าหนาว เรายังจะได้พบกับ ทุ่งดอกกระดาษ ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของที่โครงการพระราชดำริภูหินร่องเกล้าเลยก็ว่าได้ หรือแวะไปมุมถ่ายภาพยอดฮิตของจุดชมวิวแนวหินผาที่มีให้เลือกถึง 6 จุด ได้แก่ ผาไททานิค , ผาพบรัก , ผาบอกรัก , ผาคู่รัก , ผารักยืนยง และ ผาสลัดรัก ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน อ่อ!! อีกหนึ่งไฮไลท์ในช่วงหน้าหนาวก็คือ ที่นี่ยังเป็นจุดชมดอกพญาเสือโคร่งสีชมพูบานสะพรั่งที่สวยอีกจุดนึงด้วย
จาก พิษณุโลก เลยต่อไปอีกนิด เพื่อตามรอยพระบาทไปชมอีกหนึ่งพลับพลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ใช้ทรงงานและแปรพระราชฐานมาประทับแรม ในวโรกาสที่พระองค์เสด็จมาตรวจเยี่ยมโครงการตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
จุดชมวิวเขาตะเคียนโง๊ะ นับเป็นจุดชมวิวชมทะเลหมอกที่สวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งบนเขาค้อเลยก็ว่าได้ ตั้งอยู่ห่างจากจุดชมวิวหลักเขาค้อเพียงแค่ 16 กิโลเมตรเท่านั้น ด้านบนนี้ยังมีจุดกางเต็นท์ที่สามารถนอนดูดาวยามค่ำคืน และตื่นมาชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า ซึ่งสามารถชมวิวได้รอบด้านถึง 360 องศา อีกทั้งยังมองเห็นเขาปู่ เขาย่า หรือที่เรียกกันว่า ฟูจิแห่งเขาค้อ เพราะมีรูปทรงคล้ายภูเขาไฟฟูจิ รวมถึงผืนป่าและเส้นทางที่ทอดยาวของเขาค้อเบื้องล่าง นับเป็นทัศนียภาพที่สวยงามจนต้องขอบอกว่าหากมีโอกาสมาเที่ยวเขาค้อแล้วไม่ควรพลาด
พระตำหนักเขาค้อ
เป็นพระตำหนักที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อได้ทรงมาตรวจเยี่ยมราษฎรอำเภอเขาค้อ และอำเภอใกล้เคียง รวมถึงพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานโครงการในพระราชดำริ ภายในพระตำหนักประกอบด้วยอาคารเชื่อมต่อกันเป็นรูปวงแหวน มีเรือนข้าราชบริพารเป็นส่วนเชื่อมต่อกับพระตำหนัก ตัวอาคารมีลักษณะโค้ง 2 ชั้น ชั้นบนมี 2 ห้องใหญ่ ซึ่งเป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ ชั้นล่างประกอบด้วย ห้องพระราชทานเลี้ยง ห้องครัว , ห้องเสวย , ห้องเข้าเฝ้า และห้องโถงใหญ่ ตลอดจนมีห้องบรรทมของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี , สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ด้านหน้าพระตำหนักมีสวนหย่อมและแปลงไม้ดอกมีลักษณะเป็นวงกลม ตรงกลางเป็นที่ตั้งของเสาธงมหาราช มีความสูง 60 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสฉลองครบพระชนมายุครบรอบ 60 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
นอกจากนี้แล้วพระตำหนักเขาค้อแล้วบริเวณใกล้ๆยังมีที่พักให้นักท่องเที่ยวมาพักแรมได้มีทั้งห้องพัก และลานกางเต้นท์ในราคาที่ไม่แพง พร้อมทั้งที่อาหารไว้คอยบริการด้วย
โครงการทุ่งกังหันลมเขาค้อ อีกหนึ่งแลนด์มาร์คแห่งใหม่สำหรับการมาเยือนเขาค้อ ที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด หรือก็คือโครงการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานลม ตั้งอยู่บนที่ราบยอดเขากว่า 350 ไร่ จึงทำให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้กว้างไกล ท่ามกลางกังหันลมต้นมหึมาที่มีความสูงกว่า 100 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของวงพัดยาว 120 เมตร จำนวน 24 ต้น เป็นใบพัดกังหันลมที่มีขนาดยาวที่สุดในประเทศไทย และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยต่อปีราว 140 ล้านหน่วย อีกทั้งยังเป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษกิจพอเพียง ด้านพลังงานทดแทน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกด้วย นอกจากนี้แล้วภายในโครงการยังมีมุมสวยๆให้ถ่ายรูปคู่กับทุ่งกังหันขนาดใหญ่มากมายยังมีชิงช้าชาวเขารถฟอร์มูล่าม้งในขับเล่นเกร๋ๆ อีกด้วย สำหรับคนที่อยากเข้าไปสัมผัสกับทุ่งกังหันลมขนาดใหญ่ยังมีบริการรถทัวศ์ชมวิวทุ่งกังหันลม
พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนการเก็บประวัติข้อมูลของเมืองหล่มสักมาจัดแสดงไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมกันในทุกวันพุธ – ศุกร์ (หยุดทุกวันอาทิตย์ จันทร์ อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) วันละ 4 รอบ ได้แก่
รอบที่ 1 เวลา 09.00 – 10.00 น.รอบที่ 2 เวลา 10.30 – 11.30 น.
รอบที่ 3 เวลา 13.30 – 14.30 น.รอบที่ 4 เวลา 15.00 – 16.00 น.
และวันเสาร์เข้าชมได้ใน เวลา 17.00 – 21.00 น.
ภายในพิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์ได้แบ่งห้องจัดแสดงออกเป็นทั้งหมด 10 ห้อง ได้แก่
ห้องที่ 1 ห้องประชาสัมพันธ์ : เป็นห้องแรกของพิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์ ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับและให้ข้อมูลเบื้องต้นกับนักท่องเที่ยว\
ห้องที่ 2 ห้องภาพยนตร์ : เพื่อรับชมเรื่องราวที่นำเสนอเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทหล่มตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในรูปแบบการนำเสนอ 360 องศา
ห้องที่ 3 ห้องเมืองหล่มสักในอดีต : แสดงลำลองเมืองหล่มสักในสมัยก่อน (ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง)
ห้องที่ 4 ห้องเสน่ห์เมืองหล่มสัก : “น้ำใหญ่” สามล้อถีบคันสุดท้ายที่รับใช้คนไทหล่มมาตลอดทั้งชีวิต “ตีมีดโบราณบ้านใหม่” กลุ่มชุมชนที่มีพื้นเพและบรรพบุรุษมาจากเมืองเวียงจันทน์
ห้องที่ 5 ห้องหล่มสักเมื่อวันวาน : จัดแสดงภาพพระราชกรณีย์กิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาบนแผ่นดินเมืองหล่มสัก จ. เพชรบูรณ์ และภาพเก่าของเมืองหล่มสักเมื่อวันวาน รวมทั้งหุ่นขี้ผึ้งสาวไทหล่มสวมเสื้อเมี่ยงแพร นุ่งผ้าซิ่นแถงตีนถ่าน เกล้าผมมวย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในการแต่งกายของผู้หญิงไทหล่มมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ห้องที่ 6 ห้องจังหวัดหล่มศักดิ์ : จัดแสดงเรื่องเจ้าเมืองหล่มสัก คือ พระสุริยวงษา (เทศ สุวรรณภา) เป็นหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริง แต่งกายด้วยเครื่องแบบเหมือนเจ้าเมืองในสมัยก่อนพร้อมทั้งมีการจำลองศาลา 8 เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่ทำการศาลจังหวัดหล่มศักดิ์ในสมัยก่อน
ห้องที่ 7 ห้องวัฒนธรรมล้านช้าง : นำเสนอเรื่องราวที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทหล่ม
ห้องที่ 8 ห้องไทหล่ม : นำเสนอเรื่องราวของคนไทหล่ม จัดแสดงด้วยหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าจริงของโซ้นเหรียน “ลาวพุงขาว” บรรพบุรุษของคนไทหล่มปัจจุบันเท่าที่ค้นพบและเป็นคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ และ “สาวนุ่งซิ่นแถงตีนถ่าน” ผ้าซิ่นพื้นเมืองคนไทหล่ม
ห้องที่ 9 ห้องของกินบ้านเฮา : นำเสนออาหารพื้นบ้านของคนไทหล่มและอาหารแนะนำ โดยจัดแสดงเพื่อให้มองเห็นถึงหน้าตาของอาหารเหล่านั้น ได้แก่อาหารพิเศษ 4 ชนิด คือ ลาบเป็ด , เมี่ยงค้น , ขนมเส้น , ข้าวเหนียวหัวหงอก ซึ่งเป็นอาหารที่มีเรื่องราวของเมืองหล่มสักตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ห้องที่ 10 ห้องเฮ็ดเวียกเฮ็ดงาน : เป็นการจำลองอาชีพและของดีที่เกิดจากคนไทหล่ม เช่น น้ำก้อบ่อคำ
คือการร่อนทองที่ห้วยเป้า ลำธารสายเล็ก ๆ บนเขาน้ำก้อที่มีเรื่องราวน่าค้นหา, เรื่องคนเก็บหมาก ด้วยวิธีการโล้จากต้นหนึ่งสู่อีกต้นหนึ่ง เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร เป็นต้น
หากจะพูดถึงของฝากเมื่อมาเยือนที่หล่มสักแห่งนี้ มีดเนื้อดีที่ถูกตีขึ้นมาด้วยขั้นตอนและรูปแบบโบราณก็นับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ควรค่าแก่การเป็นเจ้าของ ซึ่งฝีมือของช่าง รุณ สอนหลวย ต้องบอกเลยว่าถือเป็นช่างตีมีดแบบโบราณที่ใช้ความรู้กว่า60ปีด้วยวัย83ปีแห่งการสั่งสมภูมิปัญญาหล่อหลอมเรื่องราวกว่าจะมาเป็นมีดสักเล่มให้ได้ใช้ ที่ตีด้วยขั้นตอนและรูปแบบโบราณ อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์ตรงที่มีดทุกเล่มจะมีชื่อของช่างที่ตีมีดเล่มนั้น สลักไว้และจะสืบทอดกันทางสายเลือด ซึ่งปัจจุบันยังคงสืบสานวิธีการผลิตมีดส่งต่อมายังบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น เรียกได้ว่าวัฒนธรรมการตีมีดของที่นี่ถูกถ่ายทอดมากกว่า 200 ปีไม่แพ้มีดของอรัญญิก จ.อยุธยา เลยทีเดียว
และอีกของฝากยอดนิยมที่แทบทุกคนต้องมีติดไม้ติดมือกลับบ้าน นั่นก็คือผลิตภัณฑ์แปรรูปอร่อย ๆ จาก ไร่กำนันจุล ไม่ว่าจะเป็น อาหารแปรรูป , ผลไม้แปรรูป , น้ำผลไม้ , ขนม รวมไปถึง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่รังสรรมาจากธรรมชาติ ซึ่งในช่วงนี้ทางไร่ยังเปิดฟาร์มต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นปีที่ 7 กับงาน มัลเบอร์รี่เฟสต์ 2016 “ไร่กำนันจุล ไร่แห่งฟาร์มสุข” พบกับ 3 ฟาร์มสุข ปลูกประสบการณ์พิเศษ ได้แก่
ฟาร์มทัวร์ ดื่มด่ำกับธรรมชาติ ลอดอุโมงค์มัลเบอร์รี่ชิมผลสดจากต้น เรียนรู้วิถีเกษตรแบบพอเพียง “ตามรอยพระบาท” เพื่อน้อมรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เคยทรงเสด็จเยี่ยมไร่กำนันจุลในปี พ.ศ. 2507 และได้พระราชทานรถแคตเตอร์ปิล่า D8 ให้แก่กำนันจุล เพื่อนำมาใช้ทำประโยชน์ต่อสังคม งานนี้จึงได้ทีการน้อมนำแนวพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับแปลงใหม่ “แปลงพอเพียง” บนพื้นที่ 9 ไร่ “เราปลูกเพื่อใช้เอง เหลือจึงขาย” เช่น ตะไคร้หอม นำมาทำสารไล่แมลงแทนสารเคมี , ทุ่งดอกดาวเรือง นำมาทำสีย้อมผ้าและขายดอก , กองปุ๋ยและเตาถ่าน ทำน้ำส้มควันไม้ ทำเพื่อใช้ในแปลงออแกนิค เป็นต้น
ฟาร์มอร่อย พบกับพาเหรดอาหารอร่อย เมนูพิเศษจากมัลเบอร์รี่ และสินค้าคุณภาพดีจากไร่กำนันจุล ใน “จุลชวนชิม”
ฟาร์มสนุก เต็มอิ่มและเพลิดเพลินกับกิจกรรมเสริมสร้างจินตนาการ ชมความน่ารักของสัตว์เลี้ยงไร่กำนันจุล พร้อมซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพดี ดนตรีไพเราะในตลาดนัดในสวน และกิจกรรมสนุก ๆ อาทิเช่น จุลแจกจริง กิจกรรมเซอร์ไพรศ์ที่คุณอาจโชคดีโดยไม่รู้ตัว กิจกรรมแชะแล้วแชร์เพื่อรับของที่ระลึกจากไร่กำนันจุล
นอกจากนั้นยังจะได้สัมผัสกับวิถีและประเพณีวัฒนธรรม ตั้งแต่จุดกำเนิดจนถึงนวัตกรรมของหม่อนไหมในอนาคตกับ “Chul Thai Silk Form Soil To Silk” เส้นใยธรรมชาติอันทรงคุณค่าแห่งความสวยงาม ชมนิทรรศการเส้นไหมของ “จุลไหมไทย” ชมการสาธิตการเลี้ยงไหมตั้งแต่ออกจากไข่จนเป็นรังไหม ร่วมงานกันได้แล้วตั้งแต่วันนี้ – 31 มกราคม 2560
สำหรับค่าใช้จ่าย บัตรผู้ใหญ่ (ความสูง 120 ซม. ขึ้นไป) ราคา 150 บาท , บัตรเด็ก (ความสูง 90-120 ซม.) ราคา 80 บาท *เด็กต่ำกว่า 90 ซม. เข้าฟรี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.056-771-555 หรือ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kamnanchul.com/mulerry-fest-2016