“นครศรีดี๊ดี นครศรีดีกว่าเดิม”

หลังจากยกของดีที่น่าสนใจมาให้ชาวกรุงเทพได้สัมผัสในใจกลางกรุงเทพที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อ 17 – 20 กรกฏาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งชาวกรุงเทพให้การตอบรับเป็นอย่างดี มาถึงทริปที่ เที่ยวติดดิน จะพาเพื่อนๆไปแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เหมาะกับวัยรุ่นที่ชอบการผจญภัยลุยกันแบบหลากหลายรสชาติ เริ่มแรกเราจะพาไปไหว้พระกันเพื่อความเป็นสิริมงคลกันก่อนเลยเริ่มที่วัดเขาขุนพรม ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ตามตำนานของวัดกล่าวไว้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินได้มาบรรพชาเป็นพระภิกษุ และจำพรรษาอยู่ ณ วัดเขาขุนพนมแห่งนี้

พระอุโบสถ เดิมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด ๕.๘๐ x ๑๑.๒๐ เมตร ตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ๑.๗๕ เมตร เป็นฐานเขียงสองชั้นและฐานสิงห์หนึ่งชั้น หลังคาจั่วไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ประดับหลังคา ของพระอุโบสถเหมือนทั่วไป ลักษณะจะเป็นพระอุโบสถที่เรียกว่า มหาอุด คือไม่มีช่องหน้าต่าง พ.ศ. ๒๕๓๓ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ทำให้มีช่องรับแสงใต้หน้าบันและใต้ปีกหลังคา ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีสาวกซ้ายขวาที่พนมมือที่มุมด้านข้างฐานชุกชี รอบ พระอุโบสถมีใบเสมาแปดใบตั้งอยู่บนฐานสิงห์ ย่อมุมได้สิบสอง ส่วนบนเป็นบัวกลุ่มรองรับใบเสมา

ถ้ำพระเจ้าตาก บันไดทางขึ้นมีรูปพญานาคปูนปั้นเจ็ดเศียรสองตน แผ่นพังพานทอดตัวเป็นราว บันได มีทั้งหมด ๒๔๕ ชั้น กลางลำตัวพญานาคสลักเป็นรูปพระพุทธรูปที่นั่งขัดสมาธิปิดตา อยู่ในวงกลมล้อม รอบด้วยลายเม็ดน้ำค้างและกลีบดอกไม้ ด้านนอกวงกลมเป็นลายกระจัง ใต้ศอพญานาคทุกตนมีลายนโม สุดปลายหางพญานาคเป็นเพิงผาขนาดใหญ่เรียกว่า ถ้ำพระเจ้าตากหรือถ้ำเขาขุนพนม

บ้านพรหมโลกมีลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบเชิงเขา มีคลองไหลผ่าน 2 สาย คือ คลองปลายอวนและคลองนอกท่า ซึ่งมีต้นน้ำจากยอดเขาหลวง เทือกเขานครศรีธรรมราช สำหรับถนนมีการบุกเบิกเมื่อ พ.ศ. 2502 ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี ทรงเสด็จในพื้นที่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านเรียกว่าสมัยญี่ปุ่นขึ้นท่าแพ พื้นที่บ้านพรหมโลกเป็นที่อพยพของคนในพื้นที่อื่นๆ เข้ามาหลบภัย และสร้างสวนผลไม้ รวมทั้งทหารญี่ปุ่นด้วย พลูปากหรามก็หมดไปสมัยนี้ สาเหตุก็เพราะว่าเมื่อเอาไปขายที่ท่าแพ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีญี่ปุ่นอยู่มาก พวกญี่ปุ่นชื้อไปผัดกับหมู ปรากฏว่ากินแล้วเมาจึงสั่งให้ตัดต้นพลูทั้งหมด

น้ำตกพรหมโลกจัดว่าเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีลานหินกว้างและสวยงามแห่งหนึ่งในภาคใต้ มีต้นน้ำกำเนิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชไหลลงมาบนแผ่นหิน 4 ชั้น ได้แก่
1) หนานบ่อน้ำวน ซึ่งเกิดจากการไหลของน้ำ ทำให้เกิดเป็นบ่อน้ำ ลักษณะคล้ายโอ่ง ปากบ่อกลมขนาด 3 เมตร น้ำปากบ่อจะนิ่ง แต่ข้างล่างจะไหลวน เป็นจุดอันตรายไม่สามารถลงเล่นน้ำได้
2) วังไม้ปัก เป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกวังไม้ปักก็เพราะว่ามีไม้ปักอยู่ตรงกลางของแอ่งน้ำ ไม้ที่ปักอยู่มีอายุมากกว่า 100 ปี
3) วังหัวบัว เป็นวังที่เอาน้ำมาทำประปาใช้ในชุมชน
4) วังอ้ายเล เรียกชื่อตามลักษณะวังที่ลึกเหมือนน้ำในทะเล
จากนั้นน้ำก็จะไหลผ่านหมู่ไม้นานาพรรณริมเชิงเขาสร้างความชุ่มฉ่ำแก่ภูมิประเทศในแถบนั้นแล้วไหลไปเป็นคลองท่าแพและลงสู่อ่าวไทย
หลังจากไปเที่ยวน้ำตกกันแล้วที่นี้มาถึงกรุงชิงก็มานั่งรถโฟวิวขึ้นเขาไปดูทะเลหมอกยามเช้ากันครับ กับจุดชมวิวทะเลหมอกเขาจังโหลน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ของตำบลกรุงชิง ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 3 บ้านพิตำ ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทางกลุ่มชาวบ้านพื้นที่บ้านพิตำ มีการบริการนำนักท่องเที่ยวขึ้นชมทะเลหมอก พร้อมดื่มดำ่กับบรรยากาศยามเช้า ชมพระอาทิตย์ จิบกาแฟเคล้าสายหมอก สูดอากาศอันบริสุทธิ์ยามเช้าอันสดชื่น นักท่องเี่ยวท่านใดสนใจ สามารถติดต่อได้ที่คุณวิลาวัลย์ จรรยาดี (คุณไก่) โทร.090-8157584
ชุมชนโบราณเขาคา สันนิษฐานว่าเจริญขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เขาคาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ได้พบร่องรอยหลักฐานสถาปัตยกรรมเทวาลัยตามแนวสันเขา เชื่อกันว่าชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนคงกระจายอยู่ตามพื้นที่ราบรอบเขาคา ซึ่งเป็นที่กว้างเหมาะแก่การทำเพาะปลูก ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากในชุมชนที่เป็นที่ตั้งหมู่บ้าน ชุมชนโบราณเขาคาถูกทิ้งร้างไปในสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานว่าเมื่อนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีอิทธิพลครอบคลุมเมืองสิบสองนักษัตร ผู้คนที่เคยอยู่แถบเขาคา อาจเคลื่อนย้ายอพยพไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ คงเป็นสาเหตุให้ชุมชนโบราณเขาคาถูกทิ้งร้างในเวลาต่อมา
การสำรวจพบเขาคาเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เริ่มให้ความสนใจที่จะสำรวจโบราณสถานในท้องถิ่นของตนขึ้น ต่อมากรมศิลปากรจึงได้เข้าสำรวจศึกษาบันทึกข้อมูล และรวบรวมโบราณวัตถุที่สำคัญ ๆ นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงได้งบประมาณดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีและบูรณะโบราณสถานอย่างต่อเนื่อง จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่ และสร้างอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโบราณวัตถุโบราณสถานที่พบในพื้นที่โดยรอบเขาคา ปัจจุบันได้เปิดบริการให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้
ล่องแก่งคลองกาย ต้นกำเนิดของสายน้ำคลองกลายมาจากผืนป่าต้นน้ำบนเขตป่ากรุงชิงใน อุทยานแห่งชาติเขานัน และ อุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นอีกหนึ่งสายน้ำที่มีความลงตัวทางธรรมชาติในการจัดทำเส้นทางล่องแก่งชมธรรมชาติด้วยเรือยางหรือเรือคายัค โดยเส้น ทางในการล่องแก่งจะมี 2 ระยะ คือ “ปากคลองพิตำ-ลานหินดาน” ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง และ”ปากคลองพิตำ -บ้านทุ่งใน ”ระยะทาง 6 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง สภาพแก่งและสายน้ำทั้งสองระยะจะมีขนาดที่ไม่ใหญ่และ มีความยากของแก่งอยู่ที่ระดับ 1-3 เหมาะกับการใช้เรือยางขนาดเล็กหรือเรือคายัคช่วงแรกกระแสน้ำจะยังไม่แรง ปล่อยให้ได้ลัดเลาะไปตามโขดหินและร่องผาเพลิดเพลินไปกับการ มองน้ำ มองฟ้า ชมทัศนียภาพสองข้างลำน้ำที่เต็มไปด้วยป่าดงดิบที่เขียวชอุ่มตลอดปี ก่อนที่จะได้สนุกสนานเร้าใจกับแก่งมากมาย เช่น “แก่งหินหมอน” “แก่งชองปืน” “แก่งประ” “แก่งยาหนัด”และแก่งน้อยใหญ่อีกมากมาย โดยจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตลอดลำน้ำเป็นระยะๆ

ถ้ำหงส์ ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขานันที่ 6 (คลองลำแพน) บ้านพิตำ หมู่ที่ 3 ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นถ้ำที่มีธารนำไหลภายในถ้ำมีลักษณะพิเศษมีน้ำตกภายในถ้ำมากกว่า 5 ชั้น ความยาวของถ้ำประมาณ 260 เมตร ภายในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมทั้งสัตว์ที่อาศัยอยู่ภายในถ้ำ เช่น ปลาบู่ถ้ำ กุ้ง ตะพาบน้ำ จงโคร่ง เม่นหางพวง เป็นถ้ำที่เหมาะสำหรับการศึกษาการกำเนิดของหินได้เป็นอย่างดีน้ำตกภายในถ้ำ ซึ่งมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีสามารถเล่นน้ำได้และเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำเมื่อผนังถ้ำโดนแสงไฟจะส่องแสงเป็นประกายสวยงามมาก

บ่อน้ำร้อนกรุงชิง ตั้งอยู่ ณ สำนักสงฆ์บ่อน้ำร้อนวนาราม หมู่ที่3 ตำบล กรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบ่อน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิ ประมาณ 55 องศาเซลเซียส ผุดขึ้นมาจากใต้ผิวดิน ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บ่อน้ำร้อนกรุงชิงแตกต่างจากที่อื่นคือมีกลิ่นกำมะถัน (กลิ่นแก๊สไข่เน่า) จึงทำให้ไม่เหมาะแก่การนำไปต้มไข่ ประกอบอาหาร หรือทำเป็นห้องอบซาวน่า (Sauna) เหมือนบ่อน้ำร้อนที่อื่น อีกทั้งหากบ่อน้ำร้อน ได้รับแรงสั่นสะเทือน (เช่นการตบบนขอบบ่อเพื่อให้เกิดการสั่นสะเทือน) จะเห็นกลุ่มฟองอากาศที่ผุดขึ้นมาจากบ่อน้ำร้อนแห่งนี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม บ่อน้ำร้อนกรุงชิงได้รับการดูและและจัดการโดย กลุ่มบ่อน้ำร้อนกรุงชิงเพื่อการท่องเที่ยว มีนายวิรัตน์ เล่มทัศน์ เป็นประธานกลุ่ม ก่อตั้งเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 เพื่อการพัฒนาและแปลงเป็นมูลค่าให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มและชุมชน โดยเชื่อมโยงกิจกรรมท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ ที่มีอยู่ในกรุงชิง

ประวัติของ ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ มีการเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนว่า สถานที่ตั้งวัดเจดีย์ปัจจุบันนั้นเมื่อก่อนได้มี หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ดังสายปักษ์ใต้ได้เดินทางกลับจากกรุงศรีอยุธยา และมาปักกรด เดินธุดงค์ อยู่บริเวณนั้นเพื่อพักแรมส่วนไอ้ไข่นั้น อายุประมาณ 9 – 10 ขวบเป็นลูกศิษย์ซึ่งติดตามหลวงปู่ทวดมา เมื่อหลวงปู่ทวดมาถึงสถานที่ดังกล่าวกลับพบว่ามีทรัพย์สมบัติ และ ศาสนสถานนั้นเป็นสถานที่ที่สำคัญมากจึงได้ให้ ไอ้ไข่ สิงสถิตเฝ้าทรัพย์สมบัติและสถานที่ดังกล่าว ที่นั้น และหมู่บ้านนั้นภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านโพธิ์เสด็จจวบเท่าปัจจุบัน หลังจากปี .. 2500 ผู้ใดที่เข้ามานอนพักข้างแรมภายในบริเวณวัดเจดีย์ถ้าไม่เอ่ยชื่อ หรือบอกล่าว หรือขอขมาต่อไอ้ไข่แล้ว จะนอนไม่ได้ มีการก่อกวนทั้งคืนเช่น เมื่อทำท่าจะหลับจะมีเด็กเอามือมาตีศรีษะบ้าง ดึงขา ดึงแขนบ้าง ก่อกวน ตามประสาแบบเด็กๆทั้งคืน

เมื่อปี .. 2526 พ่อท่านเทิ่ม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ในขณะนั้นได้จัดสร้างเหรียญบูชาไอ้ไข่ เป็นรุ่นแรก พร้อมกับพัฒนาวัดเรื่อยมาแต่ในพื้นที่ขณะนั้นยังเป็นพื้นที่สีชมพูคือยังมีความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทางราชการจึงส่งทหารพรานประมาณหนึ่งกองร้อยมาตั้งฐานปฏิบัติการชั่วคราวที่วัดเจดีย์ ซึ่งก็ปรากฏการณ์เช่นเดียวกันคือ เมื่อทหารกำลังหลับรู้สึกว่ามีเด็กมาดึงขาบ้าง ดึงแขนบ้าง เอาปืนตีศรีษะบ้าง ผลักปืนให้ล้มบ้าง จนไม่ได้นอนทั้งคืน เมื่อรุ่งเช้าทหารพรานชุดดังกล่าวจึงได้ไปสอบถามชาวบ้านบริเวณใกล้ๆกับวัดเจดีย์พร้อมกับเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวให้ฟังชาวบ้านฟัง ชาวบ้านละแวกนั้นรู้เรื่องราว และเกียติศักดิ์ของไอ้ไข่เป็นอย่างดีจึงได้บอกวิธีการแก้ไข คือ ก่อนกินข้าวหุงเตรียมอาหารต้องเอ่ยถึง ไอ้ไข่ซึ่งสถิตอยู่ ที่นั้นด้วย หลังจากเมื่อทหารพรานชุดดังกล่าวได้ทำตามที่ชาวบ้านแนะนำแล้วคืนต่อมาก็ นอนหลับพักผ่อนกันอย่างสบายเนื้อ และสบายใจ ปราศจากการรบกวนของเด็ก และตามคำบอกเล่ายังกล่าวเน้นคำว่า “สัตย์จะ” เป็นเรื่องสำคัญมากเท่าที่ประสบและเจอมาเมื่อบ่นบานศาลกล่าวอะไร ก็ต้องนำสิ่งของนั้นมาแก้บนด้วย สมดั่งคำร่ำลือ “ขอได้ ไหว้รับ” อย่างแน่นอน