เข้าสู่หน้าร้อนทีไร ก็อยากจะออกไปหาที่เย็นๆ เพื่อพักร้อน ทะเลก็ใช่ว่าจะเย็นนะ น้ำตกช่วงนี้ น้ำก็น้อย สานฟ้า ก็เลยพาพวกเราไปเที่ยวกับ รายการหลงรักยิ้ม ซึ่งในทริปนี้จะพาเราไปหลบร้อนกับเที่ยวอีสานสไตล์คลูๆ ให้หลงรักมหาสารคาม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยดันวิถีถิ่น สู่วิถีเทรนด์ กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองแห่งดินแดงอีสานแซ่บนัว แตะมือฝรั่งหัวใจไทยชาวแคนนาดา “แดเนียล เฟรเซอร์”พิธีกรรายการวาไรตี้ “หลงรักยิ้ม” ปรุงโฉมแหล่งท่องเที่ยวเดิมในมุมมองใหม่ๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์”Cool Isan” สัมผัสเสน่ห์วิถีชุมชนที่ซุกซ่อนไปด้วยเรื่องราวสุด Cool แห่งเมือง”มหาสารคาม”พร้อมด้วยแขกรับเชิญ “โกสินทร์ ราชกรม “ร่วมเดินทางให้หลงรักมหาสารคามไปพร้อมๆกัน
มาเริ่มกันที่สถานที่แรกหลงรักยิ้มจะพาเราไปชิมกาแฟที่ขึ้นชื่อว่าแพงที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่ สวนป่าพุทธสถานสุประดิษฐ์เมธี เลขที่ 212 ม.1 ต.นาข่า อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม 44120 “หลวงปู่ครูบาธรรมมุนี” เป็นผู้ริเริ่มเลี้ยงช้างมาเป็นเวลาร่วม 9 ปี เพื่อช่วยเหลือ “ช้าง” และอนุรักษ์ช้างอย่างจริงจังทุกประเภท เพื่อให้ช้างมีที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค และการเลี้ยงดูที่ดี ไม่ต้องการให้ช้างทำงานหนัก รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จากการนำผลิตภัณฑ์กาแฟขี้ช้าง กาแฟช้างทองคำ จะนำมาเป็นทุนทรัพย์ สำหรับช่วยเหลือช้างทั้งระบบ สำหรับรสชาติของกาแฟขี้ช้างนั้น จะมีกลิ่นหอมละมุน ต่างจากกาแฟทั่วไป เพราะบ่มและย่อยด้วยกระเพาะช้าง ทำให้หอมพิเศษ และทำให้ “รสขม” ลดลงและความเปรี้ยวน้อยกว่า ความพิเศษนี้ ทำให้ กาแฟขี้ช้าง หอมละมุนและอร่อยเป็นพิเศษ ถูกใจคอกาแฟอย่างแท้จริง สำหรับราคากาแฟสำหรับคนที่อยากจะลองชิมนั้น ตกราคาอยู่ที่แก้วละ400บาท หรือราคากิโลกรับละ40000บาทกันเลยทีเดียว
การผลิตและแฟรนไชส์ สำหรับขั้นตอนในการทำกาแฟขี้ช้าง
– เริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดกาแฟไทยอาราบิก้า กาแฟสุกแดงจัด (ผลเชอรี่) สายพันธุ์ อราบิก้า ที่ปลอดสารเคมี จากแหล่งเพาะปลูก จากดอยสวนยาหลวง บ้านสันเจริญ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ที่ระดับความสูง 1,300 – 1,450 เมตร จากระดับน้ำทะเล
– แล้วนำมาให้ช้างกิน ซึ่งช้างต้องกินเมล็ดกาแฟ ประมาณ 33 กิโลกรัม เมื่อช้างขับถ่ายออกมาจะได้ผลผลิต 1 กิโลกรัมแค่นั้น
– ควาญช้างจึงต้องคอยสังเกตดูว่าช้างจะขับถ่ายออกมาเมื่อใด เมื่อกระเพาะของช้างทำการย่อย ผิวเปลือกและเยลลี่ของผลกาแฟสุก แต่ไม่ได้ย่อยตัวเมล็ดกาแฟกะลา ควาญช้างก็จะนำไปตากแห้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับพฤติกรรมการกินแบบปกติ แต่รอให้ช้างกินผลกาแฟโดยสมัครใจ
– เมื่อช้างขับถ่ายออกมา จะทำการเก็บคัดแยกเมล็ดกาแฟ เพื่อนำไปผ่านกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนจนเป็นผลิตภัณฑ์ กาแฟขี้ช้าง
– และขณะนี้ กาแฟขี้ช้างไทย ดังไกลทั่วโลก ที่สำคัญก็คือแพงที่สุดในโลกด้วย
ต่อมาพามาดูสินค้าโอทอปที่เสื่อกกบ้านแพง ที่ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดสมสมบูรณ์ หมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ คือบึงแพง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีต้นผือขึ้นตามธรรมชาติมากมาย ซึ่งต้นผือนี้ชาวบ้านนิยมนำมาเป็นวัสดุในการทอเสื่อ เพื่อใช้ในครัวเรือน ต่อมามีการผลิตมากขึ้น และเป็นของฝากให้กับญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยียนกัน และยังสามารถจำหน่ายและแลกข้าวเปลือกสร้างรายได้ให้กับคนในครอบครัวและชุมชน ราคาผืนละ ๖-๗ บาท เริ่มแรกไม่มีการใช้สี ต่อมาก็มีการใช้สีธรรมชาติ และเกิดแห้งแล้ง ชาวบ้านแพงจึงได้เดินทางไปเอาต้นกกมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาปลูกไว้ที่บึงบ้านแพง เพื่อนำมาทอเสื่อกก
ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ สตรีในหมู่บ้านจึงได้มีแนวคิดที่จะรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อรวมกันผลิตเสื่อกกเป็นสินค้าของหมู่บ้าน โดยมี นางบุญสัว สิทธิจันดา ราษฎร หมู่ที่ ๑ ต.แพง ซึ่งเป็นผู้นำหมู่บ้านเป็นแกนนำในการรวบรวมผู้ที่สนใจ ปี พ.ศ ๒๕๒๑ กรมการพัฒนาชุมชนได้ฝึกอบรมกลุ่มทอเสื่อกก และพาสมาชิกกลุ่มไปดูงานที่ จังหวัดจันทบุรีนางบุญสัว สิทธิจันดา ได้นำเสื่อพับมาเป็นตัวอย่างในการเย็บเสื่อพับ แรกๆ จะเป็นสีสันสดใส ต่อมาปี ๒๕๔๖ ได้มีการพัฒนาเป็นสีน้ำตาล ลายมัดหมี่ ลายเปีย และมีการคัดสรรสินค้า OTOP มีการขายผลิตภัณฑ์ที่เมืองทองธานี ขายดีมากและเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่ง การผลิตทุกขั้นตอนใช้แรงงานของคนในชุมชนผลิตเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านแพงที่ผูกพันกับเสื่อกก จึงมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่รุ่นลูกหลาน จึงเกิดความผูกพันเหมือนญาติพี่น้อง อีกทั้งมีการลงหุ้นดำเนินการลักษณะของกลุ่มจึงเกิดความเข็มแข็ง กิจกรรมที่กลุ่มได้เชื่อมประสานกับชุมชน เช่น การนำเสื่อกกที่เป็นผลิตภัณฑ์ไปทำบุญในงานบุญประเพณีของชาวอีสานทั้งภายในหมู่บ้านและหมู่บ้านอื่นหรืออำเภอใกล้เคียง
เมื่อเราได้ของติดไม้ติดมือกลับไปฝากเพื่อนหรือคนที่บ้านแล้ว มาถึงมหาสารคามก็ไม่ควรที่จะพลาดไปไหว้พระธาตุนาดูน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พุทธมณฑลแห่งอีสาน ตั้งอยู่ที่บ้านนาดูน เขตอำเภอนาดูน เป็นเขตที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบได้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น และที่สำคัญยิ่งก็คือการขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวาราวดี รัฐบาลจึงอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นในเนื้อที่ 902 ไร่ โดยบริเวณรอบๆ จะมีพิพิธภัณฑ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม สวนรุกขชาติ สวนสมุนไพร ซึ่งตกแต่งให้เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา
การเดินทางจากตัวเมืองมหาสารคาม โดยใช้เส้นทางหมายเลข 2040 ผ่านอำเภอแกดำ อำเภอวาปีปทุม แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2045 ถึงอำเภอนาดูน ทางลาดยางตลอด ห่างจากตัวเมืองประมาณ 65 กิโลเมตร
หลังจากไหว้พระธาตุนาดูนแล้วก็ไปกันต่อที่วัดโพธารามไปชมศิลปะที่สะท้อนวัฒนธรรมวิถีชีวิตอันทรงคุณค่า ที่เรียกว่า ฮูปแต้มหรือจิตกรรมฝาผนัง ณ สิมวัดโพธาราม หรือพระอุโบสถวัดโพธาราม ตั้งอยู่ที่วัดโพธาราม บ้านดงบัง ต.ดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม เป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สิมที่มีการเขียนฮูปแต้มนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี 2451 ลักษณะสิมเป็นแบบท้องถิ่น ฐานยกสูงจากลานประทักษิณ ราวบันไดทำเป็นรูปนาค ฮูปแต้มที่พบปรากฎบนผนังสิมทึบ มีฮูปแต้มทั้งผนังด้านนอกและผนังด้านในสิม ปรากฎชื่อช่างแต้มคือนายสิงห์ เป็นช่างพื้นถิ่น สีที่ใช้ในการเขียนเป็นสีฝุ่น ช่างใช้โทนสีเย็น ส่วนใหญ่ใช้สีฟ้า สีคราม สีขาว สีดินแดง และสีเขียว ลักษณะการใช้สีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เนื้อหาของฮูปแต้มประกอบด้วยภาพพุทธประวัติ ภาพพระเวสสันดรชาดก ภาพพระมาลัย(นรก สวรรค์) ภาพนิทานพื้นบ้าน พระลักพระราม สินไซ(สังข์ศิลป์ชัย) ภาพแต่ละตอนมีบรรยายด้วยอักษรธรรม และอักษรไทยน้อยเป็นช่วงๆ รูปแบบการจัดวางองค์ประกอบเป็นแบบศิลปะพื้นบ้านอีสานคือ ไม่เรียงลำดับตามเนื้อหาในวรรณกรรม แม้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะภาคกลางมาบ้าง แต่ช่างเขียนก็แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดขนบการเขียนแบบภาคกลาง
คุณค่าของภาพเป็นศิลปะแนวบริสุทธ์ ไม่ได้ยึดขนบเชิงช่างที่มีแบบแผน มักสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานในสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น งานบวช งานศพ งานแต่งงาน เป็นต้น ความพิเศษของฮูปแต้มที่นี่คือ รายละเอียดของตัวละครชาวบ้านที่เรียกว่า “ตัวกาก” ที่ช่างแต้มได้สอดแทรกภาพวิถีชีวิตของคนเมืองมหาสารคามยุคนั้นมาใส่ไว้ในภาพพร้อมกับเรื่องหลักด้วย เราจึงเห็นภาพการประกอบอาชีพต่างๆ ของตัวกาก ทั้งการทอผ้า การหาปลา การลงข่วง การตำข้าว การเล่นดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ ฮูปแต้มจึงเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์รอให้ผู้คนเข้าไปเรียนรู้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับคนในชุมชน
และถัดมาไม่ไกลกันมาก วัดป่าเรไรย์ บ้านหนองพอก ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เดิมชื่อ “วัดบ้านหนองพอก” เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2224 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2460 และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดป่าเรไรย์” เมื่อ พ.ศ. 2465 สิมวัดป่าเรไรย์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 10 ตอนที่ 217 วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2536 กำหนดขอบเขต 1 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา สภาพทั่วไปของอาคารศาสนสถาน สิมวัดป่าเรไรย์ เป็นอาคารแบบพื้นบ้านบริสุทธิ์ สร้างด้วยอิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานมีระเบียงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง มีเสาไม้สี่เหลี่ยมรองรับชายคาปีกนกที่ยื่นต่ออกมาจากหลังคา ราวบันไดปั้นเป็นรูปนาค ศิลปะพื้นบ้านแบบอีสาน มีประตูทางเข้าหนึ่งช่องอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ผนังด้านข้างเจาะเป็นช่องหน้าต่างแคบ ๆ เป็นช่องแสง ข้างละ 2 ช่อง ไม่มีบานหน้าต่าง บนฝาผนังมีภาพเขียนทั้งด้านนอกและด้านใน ช่างเขียนหรือช่างแต้มชื่อ นายสิงห์ วงศ์วาด เป็นชาวบ้านบ้านคลองจอบ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สีที่ใช้เขียนคือสีฝุ่นวรรณะสีเย็น ได้แก่ สีน้ำตาล เขียว คราม น้ำเงิน และสีดำ ผลงานส่วนใหญ่จะลงพื้นด้วยสีน้ำตาลอ่อนแล้วจึงร่างภาพระบายสีตัดเส้นเพื่อเกิดความสมบูรณ์ ตำแหน่งและเรื่องราวของภาพ การแบ่งเรื่องราวของภาพและลำดับเรื่องราวค่อนข้างชัดเจน การเขียนจะเริ่มต้นจากขวาไปซ้าย จากล่างขึ้นบน โดยใช้เส้นสินเทา สภาพธรรมชาติ และสิ่งก่อสร้างเป็นตัวกั้นเรื่อง ตำแหน่งภาพเขียนจะเขียนไว้ทั้งด้านนอกและด้านในของผนังทั้ง 4 ด้าน เรื่องราวที่ปรากฏบนผนังจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เรื่องราวคือ เรื่องราวทางพุทธศาสนาและเรื่องจากวรรณกรรม
หลังจากเที่ยวชมวัดชมความสวยงามแล้วพาท่านมาดูสิ่งบันเทิงกันบ้างดีกว่านะครับ จะพาท่านไปรู้จักกับหมอลำหุ่นละครเด็กเทวดากัน เมื่อเรามาถึงนั้นก็มีการต้อนรับด้วยวิถีพื้นบ้านขอชาวอีสานนั้นก็คือการบายศรีสู่ขวัญซึ่งเป็นการต้อนรับแขกบ้านแขกเรือนของชาวอีสาน หลังจากนั้นก้จะเป็นการแสดงละครหุ่นละครที่ทำจากกระติ๊บข้าวเหนียว ผ่านเรื่องราวนิทานสอนใจโดยเป็นภาษาอีสานหรือหมอลำ และภายในนั้นก้มีกิจกรรมให้ทำหุ่นจากกระติ๊บข้าวเหนียวด้วย
หลังจากนั้นมาต่อกับสถานที่สุดท้ายของทริปนี้กันที่ สะพานไม้แกดำ’ เป็นสะพานไม้ที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดมหาสารคาม พาดผ่าน ‘หนองแกดำ’ หนองน้ำขนาดใหญ่ ที่กำลังมีบัวบานจำนวนมาก กลายเป็นแห่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่ง
ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน คาดว่า สะพานไม้แกดำ จะมีอายุเกือบ 100 ปี โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากชาวบ้าน ได้ร่วมใจสร้างสะพานเล็กๆ ขึ้นมา เพื่อใช้สัญจรระหว่างสองหมู่บ้านที่ถูกหนองแกดำกั้นขวาง แต่เดิมตัวสะพาน จะใช้ไม้ไผ่เป็นลำวางไว้เท่านั้น และมีความคด เคี้ยวไปมาตามความตื้นของน้ำในหนอง
ต่อมาปี 2507 คันดินกั้นน้ำของหนองแกดำขาด เนื่องจากรับน้ำไม่ไหว ชลประทานจึงถมดินซ่อมแซม พร้อมขุดขยายเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ จากนั้นในปี 2509 ได้ก่อตั้งโรงเรียนแกดำอนุสรณ์ และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ทั้งสองฝั่งหนองแกดำ ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสะพาน จนต่อมาถูกขนานนามอีกชื่อว่าเป็น “สะพานเชื่อมใจ”เมื่อเดินสะพานข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของสะพานไม้แกดำเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชาวบ้านหัวขัว พร้อมการแสดง เชิงกระโจม ซึ่งมีการแต่งตัวด้วยชุดพื้นบ้านและใส่หมวกคล้ายๆกระโจม จึงเป้นที่มาของเชิงกระโจม นอกจากนี้และยังมีกิจกรรมสาธิตการการทำเมนูกุ้งจ่อม หรือปลาส้ม จากวัตถุที่หาได้จากชุมชน