หากจะพูดถึง สกลนคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมพร้อมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์มากมาย ทำให้ จังหวัดสกลนคร เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายทั้ง6กลุ่มชาติพันธุ์ แหล่งประหวัติศาสตร์ เส้นทางเฉลิมพระเกียรติและเส้นทางตามรอยธรรม พร้อมทั้งมีผลิตภัณฑ์ต่างๆที่น่าสนใจที่สามารถทำมูลค่าให้กับชาวสกลนครหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป้นผ้าย้อมคราม น้ำหมากเม่า ข้าวฮางงอก เนื้อโคขุนโพงยางคำ เครื่องเซรามิกกุดนาขาม วันนี้เที่ยวติดดินจะพาไปเที่ยวที่ต่างๆที่น่าสนใจของ สกลนคร
สถานที่แรกพาเข้าวัดไหว้พระเจ้าแสนที่วัดพระธาตุเชิงชุม ศาสนสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวสกลนครเคารพนับถือ ยอดฉัตรเหนือองค์พระธาตุทำด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 247 บาท ภายในมีรอยพระพุทธบาท 4 พระองค์ นับตั้งแต่พระกกุสันทะ พระโกนาคม พระกัสสะปะ และพระโคดม เชื่อกันว่าอานิสงส์ในการนมัสการพระธาตุเชิงชุมนั้นจะก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลสูงสุดแก่ตนเองและครอบครัวให้มีความเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปราศจากอันตราย การนมัสการหลวงพ่อพระแสน ที่เชื่อกันว่าท่านจะให้พรในด้านโชคลาภ ให้มีเงินทองนับหมื่นนับแสน มีความมั่งมีศรีสุขในชีวิต
ในทุกวันจะมีประชาชนมากราบไหว้พระธาตุเชิงชุมและหลวงพ่อพระแสนเป็นจำนวนมากทีเดียว พระธาตุเชิงชุม ตั้งหันหน้าไปทางหนองหานที่อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยม สูง 24 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ที่ฐานเจดีย์ มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลง และหินทรายแดง มีซุ้มประตูหลอกแบบขอม องค์พระธาตุในปัจจุบันเป็นศิลปะล้านช้าง เนื่องจากช่วงที่อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่
วัดป่าพุทธนิมิตรสถิตสีมาราม ( โบสถ์ดินแห่งแรกในประเทศไทย ) บ้านห้วยยาง ตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นวัดกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ปัจจุบันมีพระครูปลัดสมบัติอาภัสสสโรเป็นเจ้าอาวาส
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์การสร้างอุโบสถดินแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยจะมีการสร้างอุโบสถ กุฏิ เจดีย์ที่ทำจากดินทั้งหมด ซึ่งจะนำดินจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง จากประเทศเนปาล อินเดีย และดินจากพระสถูปโบราณ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จากเมืองตักศิลา ประเทศปากีสถาน มาผสมเพื่อความเป็นสิริมงคลในการสร้างอุโบสถดินด้วย
อุโบสถดินจะมีขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๕ เมตร พระสงฆ์ปฏิบัติสังฆกรรมได้ไม่น้อยกว่า ๕๐ รูป โดยใช้งบประมาณจัดสร้างไม่เกิน ๑ ล้านบาท นอกจากนี้ยังสร้างกุฏิดินอีก ๕ หลัง ราคาหลังละไม่เกิน ๑ แสนบาท และเจดีย์งบประมาณไม่เกิน ๑ ล้านบาท ซึ่งแรงงานที่มาจัดสร้างเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำที่กำลังจะพ้นโทษ และผ่านการอบรมการฝึกอาชีพก่อสร้างบ้านดินจากกรมราชทัณฑ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยังเป็นการทำความดีคืนสังคม โดยสมเด็จพระสังฆราชยังได้ประทานพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ที่แกะสลักจากหินหยกที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถอีกด้วย
พาไปชมวิถีของชาวภูไทที่ หมู่บ้านภูไทโนนหอม ในปี พ.ศ. 2400 ชนเผ่าภูไทกลุ่มนี้ได้อพยพมาจากเมืองภูวานากะแด้ง ประเทศลาว โดยพากันข้ามแม่น้ำโขง แล้วลัดเลาะรอนแรมมาตามแนวเทือกเขาภูพาน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกสู่ที่ราบลุ่มที่เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ (ปัจจุบันคือหนองหารหลวง จังหวัดสกลนคร) จากนั้นก็แยกย้ายกันตั้งถิ่นฐานตามพื้นที่ที่เหมาะสม บางกลุ่มอาศัยปักหลักอยู่ใกล้แหล่งน้ำ แต่บางกลุ่มเลือกที่จะอยู่ตามบริเวณที่เป็นโนนหรือเนินใกล้เชิงเขาภูพาน (ปัจจุบันคือพื้นที่หนึ่งในเขตตำบลโนนหอม) สำหรับบรรพบุรุษของชนเผ่าภูไท บ้านโนนหอม นั้นได้ตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านเล็กๆ กระจายอยู่ตามท้องทุ่งนา และริมป่าบุ่งป่าทาม
หากคุณเป็นคนที่สนใจในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีไทยแล้วล่ะก็ หมู่บ้านโนนหอมแห่งนี้นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ไม่ควรพลาด เพราะที่นี่คุณจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวภูไทอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมรับประทานอาหารเย็นกับชาวภูไท หรือที่เรียกว่า “พาแลง” การชมการแสดงฟ้อนรำของสาวชาวภูไท หรือการชมการแสดงรำมวยโบราณ ทั้งนี้ หากต้องการร่วมงานพาแลง หรือร่วมฟ้อนรำกับชาวภูไท สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ “ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านโนนหอม เลขที่ 5 หมู่ 2 ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000”
พิพิธภัณฑ์ภูพาน แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของจังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ที่ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บริเวณติดริมทะเลสาบหนองหาร (ฝั่งหลังโรงเรียนเชิงชุมราษฎร์นุกูล) เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม ของชาวจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นดินแดนแห่งธรรม ประกอบด้วย 4 ธรรม ได้แก่ ธรรมะ อารยธรรม วัฒนธรรม ธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ภูพานจัดแสดงโซนต่างๆ ทั้งหมด 9 โซน ได้แก่ ห้องโหมโรง ,นิทรรศการ “มหัศจรรย์ภูพาน”, ป่าบุ่งป่าทาม ป่าพรุอีสาน, หนองหารกับการตั้งเมืองสกลนคร, ห้องคนสกลนคร, อาศิรวาทองค์ราชัน องค์ราชินี, นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ, ดินแดนแห่งธรรม, และประติมากรรมลานกลางแจ้ง ดำเนินการก่อสร้างตามยุทธศาสตร์แผนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์) ได้กำหนดให้มีโครงการหนึ่งจังหวัดหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด ซึ่งในส่วนของจังหวัดสกลนคร ได้จัดทำโคงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ภูพาน โดยการก่อสร้างเป็น4ระยะ ใช้งบประมาณทั้งสิ่น 88,801,000 บาท เริ่มเปิดบริการตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2555 อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดและต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 จังหวัดสกลนครได้โอนภารกิจการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ภูพานให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครเป็นผู้รับผิดชอบ เปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00 น.ถึงเวลา 17.00 น.ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ( หยุดวันจันทร์ ) โทร 08-4513-242
อุทยานบัว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมบัวพันธุ์ต่างๆ และรองรับการประชุมวิชาการบัวนานาชาติปี พ.ศ.2553 ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ของนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสกลนคร
ปัจจุบันอุทยานบัวแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนดังนี้
1. ส่วนรวบรวมพันธุ์บัว เป็นการรวบรวมพันธุ์บัวทั้งในและต่างประเทศทั้งหมด 34 สายพันธุ์ เช่นบัวกระด้ง บัวสาย บัวผัน-เผื่อน และบัวฝรั่ง รวบรวมไว้ในรูปแบบสระบัวบนพื้นที่ 10 ไร่ โดยมีทางเดินที่สามารถเดินลงไปชมบัวได้ อย่างใกล้ชิด
2. ส่วนแสดงพันธุ์บัว โดยนำบัวพันธุ์จำนวน 74 สายพันธุ์มาจัดโชว์บนกระถาง เพื่อให้ผู้สนใจ
ได้ใกล้ชิดกับบัวมากขึ้น
3. ส่วนนิทรรศการ ได้จัดแสดงไว้ในชั้นล่างของอาคารวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นนิทรรศการความรู้และความเป็นมาของบัวพันธุ์ต่าง ๆ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าได้เป็นอย่างดี
เดินทางกันมาเยอะแล้วเริ่มหมดแรงข้าวเหนียว มาอีกสานหรือสกลนครแล้วไม่ได้กินข้าวเหนียวส้มตำไก่ย่างเดี๋ยวจะหาว่ามาไม่ถึงอีสาน ข้าวเหนียวส้มตำไก่ย่างรสชาติแซ่บๆไม่ว่าคนใดก็ต้องยอมเพื่อที่จะหาร้านอร่อยๆเพื่อตามไปลิ้มลอง วันนี้เที่ยวติดดินขอแนะนำร้าน ลำดวน ไก่ย่าง เป็นอีกร้านที่อร่อยไม่แพ้ที่พังโคน ราคาไม่แพง ร้านนี้เป็นทางผ่านลงมาจากทางพระตำหนักภูภาณราชนิเวศน์ ไปพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น อยู่ต.ห้วยยาง อ.เมือง จังหวัดสกลนครค่ะ อยู่ตรงริมทางหลวงเลย มาถึงก็ให้จอดรถริมถนน เปิดทุกวัน 7โมงเช้าถึง 4โมงเย็น
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งถือได้ว่ามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานทีเดียว โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2525 สมเด็จพระนางเจ้า ฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร บ้านกุดนาขาม ๆ เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีราษฎรยากจนจำนวนมาก แต่ราษฎรมีความสามัคคี กลมเกลียวกันดี จึงทรงมีพระราช ดำริ ให้ราษฎรปลูกต้นไม้รักษาป่า คณะกรรมการหมู่บ้านก็พร้อมใจกันถวายที่ดินสาธารณะของหมู่บ้านจำนวน 43 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวาสำหรับจัดตั้งโครงการป่ารักน้ำและราษฎรบ้านกุดนาขามได้ช่วยกันเสียสละแรงงานด้วยการปลูกต้นไม้โตเร็วและร่วมกันปลูกต้นไม้เสริมจากที่มีอยู่เดิม
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2526 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโครงการป่ารักน้ำ บ้านกุดนาขามอีกครั้งหนึ่งทรงปลูกต้นไม้และทรงมีราชดำริให้ราษฎรปลูกเพิ่มเติมในช่วงนั้น ได้จัดครูมาช่วยฝึกสอนอาชีพต่าง ๆ ตามที่ราษฎรถนัดและทรงมีพระราชดำริ ที่จะให้บ้านกุดนาขามเป็นหมู่บ้านตัวอย่างจึงทรงมีพระเมตตาให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น ณ บ้านแห่งนี้โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้พันเอก เรวัต บุญทับ (ยศในขณะนั้น ปัจจุบันคือพล.อ ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์) เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2526 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อรับพระราชนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาขึ้นที่บ้านกุดนาขาม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพมาตั้งแต่บัดนั้น
วัดป่าสุทธาวาส
ประวัติความเป็นมา หลวงปู่เสาร์ กันตสีลเถระ กับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระได้รับการอาราธนาจาก อุบาสิกาสามพี่น้อง ได้แก่ นางนุ่ม, นางนิล ชุวานนท์ และนางลูกอินทร์ วัฒนสุชาติ ผู้มีความเลื่อมใสในพระอาจารย์ทั้งสอง มาจำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านบาก ต่อมาจึงได้ดำเนินการสร้างเป็นวัดป่าสุทธาวาส ครั้งใน พ.ศ. 2484 ท่านจึงไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก จวบจนวาระที่ท่านใกล้มรณภาพจึงได้มาทิ้งขันธ์ ณ วัดป่าสุทธาวาสใน พ.ศ. 2492 ส่วนสภาพวัดในปัจจุบันยังคงความร่มรื่นร่มเย็น สมกับเป็นสถานที่ที่องค์หลวงปู่มั่นเลือกจะมาพักอาพาธ หลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ. 2492 แล้ว อาการป่วยขององค์หลวงปู่มั่นหนักขึ้นทุกวัน ท่านทราบถึงความเป็นไปในอนาคตแล้วปรารภที่จะไปมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาสในเมืองสกลนคร จึงได้มีการจะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส โดยอาราธนาท่านพักบนคานหามแวะพักที่ศาลาหลังเล็กวัดป่าบ้านกลางโนนภู่ก่อนเป็นเวลา 11 วัน การที่ท่านมาพักที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่นี้ก็เพื่อโปรดนายอ่อน โมราราษฎร์ผู้สร้างวัดนี้และเป็นโยมที่อุปัฏฐากที่คอยช่วยเหลือท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือ ตลอดระยะเวลา 5 ปี
ปัจจุบันกลายสภาพเป็นวัดป่ากลางเมือง เป็นสำนักเรียนสำคัญของพระภิกษุสงฆ์ในสกลนคร ปูชนียสถานสำคัญภายในวัดนอกจากอุโบสถและพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นแล้ว ก็ยังมี “จันทสารเจติยานุสรณ์” เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโรอีกด้วย โดยเจดีย์นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกระแสว่า “ควรสร้างเจดีย์ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ที่วัดนี้ มีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระท่านจะได้อยู่ใกล้กัน”และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ร่างแบบเจดีย์องค์นี้ ด้วยพระองค์เอง พระราชทาน
พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ
เนื่องจากวัดป่าสุทธาวาสเป็นสถานที่ในการละสังขารของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ภายในอาคารจึงมีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น และการจำลองรูปเหมือนโดยสร้างเป็นหุ่นขี้ผึ้งในท่าขัดสมาธิขึ้น รวมทั้งมีการใช้สถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร อาคารนี้ก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย และดูใกล้ชิดกับธรรมชาติ อันเป็นการสะท้อนถึงการใช้ชีวิตของท่านตลอดทั้งชีวิตการอุปสมบท
เจดีย์จันทสารเจติยานุสรณ์
จันทสารเจติยานุสรณ์ หรือ เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ก่อสร้างขึ้น
ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงร่างแบบพระราชทานเบื้องต้นในการก่อสร้างอาคารหลังนี้และมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ควรสร้างเจดีย์ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ที่วัดนี้ มีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านจะได้อยู่ใกล้กัน
ถ้ำเสรีไทย
ถ้ำเสรีไทยเป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ไปต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นหัวหน้าขบวนการสายสกลนคร มีเส้นทางเดินเป็นวงรอบรวมระยะทาง 5 กิโลเมตร ผ่านป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ถ้ำเสรีไทย แล้วยังต่อไปชมพระอาทิตย์ตกและจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ทางช่วงสุดท้ายจะผ่านทุ่งกระเจียวที่จะออกดอกงามในช่วงเดือนสิงหาคม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ 4.5 กิโลเมตร
พิพิธภัณฑ์ไทยโส้ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ตัวอาคารเป็นอาคารชั้นเดียว ด้านหน้าจะพบรูปปั้นเจ้าเมืองกุสุมาลย์ พระอรัญอาสา ผู้สร้างและปกครองเมืองกุสุมาลย์ และรูปปั้นวิถีชีวิตของกลุ่มคน ในอิริยาบทต่างๆ ที่ดูเหมือนจริงมาก ด้านในเก็บรวบรวมของใช้โบราณ ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น อย่างถ้วย จาน กระเบื้อง โบราณ , เงินพดด้วง , อุปกรณ์ล่าสัตว์รวมไปถึง อุปกรณ์ทางการเกษตด้วย เครื่องแต่งกายของชนเผ่า จังหวัดสกลนคร มีชนเผ่าหลายเผ่า เช่น ภูไท ไทย้อ กะเลิง ไทลาว และไทยโส้ เป็นต้น
ประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอกุสุมาลย์ จะเป็นไทยโส้ ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษา พูด ที่ฟังดูแล้วจะคล้ายๆ กับภาษาเขมร หากไม่ใช่คนในอำเภอกุสุมาลย์ หรือไม่มีความรู้ในเรื่องของภาษาโส้ จะไม่สามารถทราบความหมายได้เลยว่า คู่สนทนาของตนพยายามจะสื่ออะไร เพราะว่าในตัวของภาษาจะฟังยากเอาการ
ชุดประจำเผ่า จะเป็นชุดสีดำ เสื้อทรงกระบอกแขนยาวสีดำแต่งชายและแขนเสื้อด้วยสีแดง ส่วนผ้าถุง เป็นผ้าถุงยาวสีดำเช่นกัน ต่อชายผ้าถุงด้วยผ้าซิ่นลวดลายต่างๆ เครื่องประดับเป็นเครื่องเงินทั้งหมด มีสร้อยคอ เข็มขัด ต่างหู ดูแล้วสวยงามมาก หากท่านอยากเห็นชุดประจำเผ่า ของแนะนำให้มาในช่วงต้นเดือน กุมภาพันธ์ เพราะจะเป็นช่วง เทศกาลประจำปีของชาว อำเภอกุสุมาลย์ คือ งานโส้รำลึก ชาวอำเภอกุสุมาลย์ จะมีการใส่ชุดประจำเผ่ากันออกมาร่วมงาน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
ในงานมีการประกวดสาวงามประจำอำเภอ ที่เรียกกันว่า “ ธิดาโส้ ” ตอนเปิดงานจะมีการฟ้อนรำ ที่เป็นเอกลักษณ์ ของชาวอำเภอกุสุมาลย์ ที่เรียกกันว่า “ โส้ทั่งบั้ง ” เป็นการฟ้อนรำที่เอาไม้ไผ่มาเคาะเพื่อให้เป็นเสียง และการฟ้อนรำที่สวยงาม หาดูได้ไม่ง่ายเลย แค่ปีละ 1 ครั้งเท่า และอีกวันที่ท่านจะเห็นการฟ้อนรำอย่างนี้คือ งานเทศกาลแห่ปราสาทผี้ง ในวันออกพรรษาที่ชาวจังหวัดสกลนครรวมตัวกันเพื่อสืบทอดวัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ มีการฟ้อนรำของทุกชนเผ่า ความยาวของขบวนประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นประเพณีที่สวยงามมาก
หมู่บ้านท่าแร่ (ชุมชนคาทอลิค) ตั้งอยู่ริมหนองหาร บนทางหลวงหมายเลข 22 (สกลนคร-นครนม) ต.ท่าแร่ อ.เมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 21 กม. หมู่บ้านท่าแร่ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์มากที่สุดในประเทศไทย เป็นชุมชนที่เก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนนับถือศาสนาคริสต์ ในอดีตประมาณปี พ.ศ.2427 ประชากรชาวท่าแร่เป็นคริตชน อพยพมาจากประเทศเวียดนามประมาณ 40 คน อาศัยอยู่ในตัวเมืองสกลนคร และมีบาทหลวงเกโก(มิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศส) เป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่ แต่เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น กอปรกับมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน จึงได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านท่าแร่ ซึ่งเต็มไปด้วยป่าไม้มีหินลูกรังทั่วไป และคนพื้นเมืองเรียก “หินแฮ่” และยังเป็นที่ตั้งของอัครสังฆมณฑลท่าแร่ หนองแสง หรือสำนักมิสซังท่าแร่ฯ หมู่บ้านนี้มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมตารางหมากรุก คล้ายกับบ้านเมืองในแถบประเทศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสที่งดงามเรียงรายสองข้างทางในถนนสายหลักของหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น ในทุกๆ วันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี ชุมชนแห่งนี้จะจัดเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส โดยจัด “ขบวนแห่ดาวคริสต์มาส” ที่ อ.เมือง โดยเชื่อว่า “ดาว” เป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ของพระเยซู ขบวนรถจะตกแต่ง ด้วยดาวขนาดใหญ่ ประดับประดาด้วยดวงไฟวิทยาศาสตร์หลากสีสันอย่างสวยงาม และจะสื่อถึงเรื่องราวการประสูติของพระเยซู ในทุกปีจะมีรถดาวเข้าร่วมขบวนประมาณ 200 คัน ชาวบ้านก็จะตกแต่งโคมไฟรูปดาวไว้ที่หน้าบ้าน จากนั้นเป็นการเฉลิมฉลองในหมู่ชาวคริสต์ มีการร้องเพลงประสานเสียง การประกวดร้องเพลงคริสต์มาส มีการจำหน่ายสินค้าและมีมหรสพทั้งคืน
บ้านโพนยางคำ ต.โนนหอม อ.เมือง จ.สกลนคร อาจเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ อันเป็นวิชาชีพชีพขั้นพื้นฐานของวิถีเกษตรกรรม และยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
จนเมื่อปี พ.ศ. 2523 ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์โพนยางคำขึ้น ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมาก เพราะถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้แก่ครอบครัวได้อย่างมั่นคง โคขุนโพนยางคำนั้นเป็นโคเนื้อลูกผสมพันธุ์ไทย-ฝรั่งเศส ที่เกิดจากการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์โคเนื้อ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ชาโรเลย์ส (Charolais) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส เป็นสายพันธุ์หลัก, พันธุ์ซิมเมนทอล (Simmental) ถิ่นกำเนิดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และพันธุ์ลิมูซีน (Limusin) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส
หลังจากลูกโคสายเลือดผสมมีอายุประมาณ 2 ปีแล้ว ก็จะเข้าสู่วิธีการ “ขุนโค” โดยจัดการถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีน และตอนก่อนที่จะนำเข้าคอก ทางสหกรณ์ใช้เทคนิคการให้โคฟังเพลงเพื่อให้วัวกินอาหารได้มาก โดยเชื่อว่าเนื้อวัวที่ได้จะนุ่ม และเลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติเป็นหลัก แบ่งเป็นอาหารหยาบที่ใช้หญ้าหรือฟาง เสริมด้วยอาหารสูตรพิเศษที่ใช้ธัญพืชในการผลิต ซึ่งเชื่อกันว่าเนื้อโคจะมีกลิ่นหอมและรสหวานยิ่งขึ้น ส่วน ที่คอกวัวนั้นมีการดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี ทำความสะอาดพื้น เก็บมูล อาบน้ำวัว แปรงขัดขน ให้วัวกินอาหารได้มากขึ้น
ซึ่งความพิเศษของเนื้อโคขุนโพนยางคำนั้น เนื้อจะมีรสชาติอร่อย หอม เนื้อนุ่ม ชุ่มฉ่ำ ไม่มีกลิ่นเหม็นสาบ และมีลายไขมันแทรกตามมาตรฐานสากล (หรือที่เรียกว่า Marbling Score)
จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำพืชโบราณ “ต้นคราม” ที่เป็นที่เลื่องลือในสรรพคุณด้านสุขภาพมาย้อมสีผ้าแบบไร้สารเคมีที่ทำให้เมื่อใส่จะรู้สึกเย็นสบาย ไม่ร้อน ซึ่งถูกวิจัยมาแล้วโดยประเทศญี่ปุ่นและอเมริกา ว่าสามารถป้องกันรังสียูวีได้ แพทย์พื้นบ้านโบราณยังเชื่อว่ากลิ่นหอมของผ้าทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สัมผัสกรรมวิธีผลิตผ้าย้อมคราม และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามแปรรูปหลากหลาย อาทิ ผ้าซิ่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ กระเป๋าถือ กระเป๋าเป้สะพายหลัง หมวก เสื้อยืดย้อมคราม ตุ๊กตาผ้าย้อมคราม