ยะลา นราธิวาส ปัตตานี 3จังหวัดชายแดดภาคใต้ เป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่ครั้งหนึ่งที่ผมต้องไปสักครั้ง หลังจากเมื่อ2ปีที่แล้วเคยไป ปัตตานีมาแล้วครั้งนึงก็ติดใจในหลายๆเรื่องไม่ว่าจะผู้คนที่น่ารักและเป็นกันเองมากๆ สำหรับทริปนี้ กินเพลินเดินเก๋เท่แบบ3จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราบินไปลงกันที่นราธิวาสด้วยสายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งมาถึงที่สนามบินแห่งนี้โดยมีการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่พนักงานอย่างน่ารักมากๆ ทำให้รู้สึกประทับใจเรียกได้ว่าตั้งแต่ลงเครื่องกันมาเลยทีเดียว

หลังจากนั้นเราคงต้องเติมพลังก่อนที่จะออกเดินทางด้วยอาหารพื้นถิ่นกันที่ ร้านอาหาร “นัดพบยูงทอง” ร้านอาหารดังในอ.หาดใหญ่ แต่มาเปิดที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส รสชาติอาหารอร่อยไม่แพ้กับร้านอาหารสาขาแรก ใครๆ ที่อยู่ในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่มาก็สามารถหาทานกันได้ เมนูอาหารที่อร่อยๆและคุ้นเคยต้องไม่พลาด เช่น ต้มกะทิกุ้งกุลาดำ แกงส้มปลากะพงยอดมะพร้าว ยำมะม่วง ปลากะพงผัดคึ่นฉ่าย ปลากุเลาเค็ม ผัดผักบุ้ง บูดูกะปิกุเลา ไข่เจียว ที่ตั้งของร้าน 162 ถ.ตากใบ-สุไหงโกลก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 16.30 – 21.00 น. โทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ 073-581141

กินเสร็จแล้วเราก็ไปกันที่ “สะพานเกาะยาว ”สัมผัสวิถีประมงพื้นบ้านที่เรียบง่ายบนเกาะยาว เกาะเล็ก ๆ ที่เชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ด้วย
สะพานไม้ชื่อว่า “สะพานคอย 100 ปี” มีความยาว 345เมตร ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาว ด้วยบรรยากาศสงบงาม มีหาดทรายละเอียดสีน้ำตาลในบางมุมของเกาะ ที่นี่จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นชาวมุสลิมประกอบอาชีพประมงและสวนมะพร้าว

“ชายหาดบ้านทอน”หมู่บ้านนี้มีชื่อว่าหมู่บ้านทอนตั้งอยู่ใน ต.โคกเตียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่นี่เป็นชุมชนไทย-มุสลิม ส่วนมากประกอบอำชีพชาวประมงที่ตั้งอยู่ริมทะเลและชายหาดบ้านทอน สัมผัสเมื่อมาเยือนหมู่บ้านทอนแห่งนี้ก็คือความเงียบสงบและสวยงามของชายหาดหาดทรายขาวสะอาดที่ทอดยาวไปสุดลูกหูลูกตา คลื่นลมนิ่งสงบมองดูแล้วสบายตา นอกจากนี้แล้วชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งผลิดเรือกอและหลายหลังคาเรือนเลยที่เดียว

ที่ตั้งชุมชนต่อเรือบ้านทอน : หมู่บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส

สอบถามข้อมูล : 0-7352-2411 (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนราธิวาส)

“หาดนราทัศน์ ”หาดนราทัศน์เป็นชายหาดที่มีความสวยงาม โค้งหาดยาวต่อเนื่องประมำณ 5 กิโลเมตรมองเห็นได้ไกลจนสุดลูกหูลูกตา จรดกกับปลายแหลมปำกแม่น้ำบางนราทางทิศใต้ แต่ก่อนนั้นชายหาดนี้จะกว้างมากจนเมื่อมีการสัมปทำนขุดทราย ทำให้หาดนี้แคบลงกว่าแต่ก่อนมาก อย่างไรก็ดีหาดนี้ก็ยังเป็นหาดที่มีความสวยงามอยู่เช่นเดิม ริมหาดที่ร่มรื่นด้วยทิวสนมากมาย อีกทั้งยังมีลมพัดเย็นบรรยากาศเป็นส่วนตัว ทำให้หาดนราทัศน์เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองนราธิวาส

มาถึงตัวเมืองนราธิวาส ใครว่ายามราตรีที่นี้ไม่คึกคักคิดผิดถนัดกันเลย ที่นี้ร้านโรตีแบแอ ลูกอาแบล์ ถือว่าเป็นร้านดังในเมืองนราธิวาส อีกหนึ่งสถานที่นัดพบของคนในพื้นที่เลยก็ว่าได้ ร้านนี้เป็นรุ่นลูกของเจ้าของร้านที่เดิมรุ่นคุณพ่อก็ประมาณ 50 ปีผ่านมาแล้ว เคยขายตรงหน้าตลาดกลางคืนตรงตลาดเทศบาลนราธิวาส ต่อมาจึงมาเปิดเป็นร้านขายอยู่ตรงวงเวียนหอนาฬิกา สี่แยกรุ้งฟ้า ใครผ่านไปมาทางนี้จะสังเกตเห็นร้านได้ชัดเจน ด้วยมีรถเข็นด้านหน้าร้าน และยามค่ำจะมีโต๊ะเก้าอี้วางไว้ด้านนอกร้านด้วย ทางร้านมีขายทั้งโรตี มะตะบะ และเมนูน้ำอื่นๆ โดยสามารถนั่งสั่งได้ที่โต๊ะ หรือจะแอดวานซ์กว่าโดยการเดินไปสั่งที่รถเข็นก็ได้เช่นกัน ยามค่ำคืนลูกค้าจะเยอะหน่อย แต่ถ้าไปตอนย่ำค่ำคนจะน้อยหน่อย เปิดตั้งแต่4โมงครึ่งถึง4-5ทุ่มปิดวันอาทิตย์คนแน่นร้านทุกวันนอกจากโรตียังมีโจ๊ก ก๊วยเตี๋ยว และก็ขาดไม่ได้พวกชากาแฟ

หลังจากพักผ่อนนอนหลับอย่างสบายใจไม่ต้องกังวลเรื่องอะไรแล้ว ตอนเช้าที่ ตลาดสดยามเช้า ที่นี้เราจะได้สัมผัสกับวิถีการใช้ชีวิตที่ยังคงเรียบง่ายตามวิถีถิ่นใต้ ผู้คนน่ารักและเป็นกันเองพูดคุยทักทายประหนึ่งญาติมิตรที่คุ้นเคย ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครหลายๆคนคิด เราจะได้พบกับอาหารพื้นถิ่นที่น่าสนใจหลายๆอย่าง อาหารทะเลสดๆ ขนมแปลกๆอร่อยๆที่รอให้คุณมาลองชิม ตลาดยามเช้าที่นี้เริ่มกันตั้งแต่ตี5 จะเริ่มคึกคักกันตอนประมาณ6-7โมงเช้า สำหรับใครที่มาตัวเมืองนราธิวาสแล้วอย่าพลาดตลาดเช้าของที่นี้

“มัสยิด 300 ปี”สถาปัตกรรมอาคารไม้ตะเคียนทั้งหลัง ผสมผสานศิลปะไทย จีน และมลายูเข้าด้วยกันอย่างมีเอกลักษณ์ สถานที่อันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทางศาสนา และมีสถาปัตยกรรมอันสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่ผ่านกาลเวลามายาวนานนับร้อยปี อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบาเจาะเพียง 4กิโลเมตร ทางเข้ามัสยิดแห่งนี้แยกจากเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๒ (สายเอเซีย๑๘ ) เส้นนราธิวาส – ปัตตานี ตรงทางแยก บ้านบือราแงรถยนต์สามารถเข้าถึงมัสยิด มัสยิดแห่งนี้สร้างโดย วันฮูเซ็น อัส ซานาวีซึ่งเป็นครูสอนศาสนาอพยพมาจากบ้านสะนอ จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านทั่วไปบ้างก็เรียกว่า มัสยิด 200 ปี หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ จากคำบอกเล่าของชาวบ้านประวัติของมัสยิดแห่งนี้สร้างมาแล้ว 3 ชั่วอายุคน โดยนายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จ.ปัตตานีเป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2167 ก่อสร้างจากไม้ตะเคียนทั้งหลัง โดยใช้สลักไม้แทนตะปูหรือสกรูการก่อสร้างในสมัยนั้นไม่มีเครื่องมือช่าง จำพวกเลื่อย ขวาน สิ่ว จึงนิยมใช้บือจือตา (รูปร่างคล้ายขวาน)เพื่อตัดไม้ ใช้บันลีโยง (ลิ่ม) เพื่อผ่าไม้ และใช้บายิ (รูปร่างคล้ายจอบ) เพื่อถากไม้ให้เรียบ ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนด้วยมือ ด้านข้างมัสยิดมีสุสานชาวมุสลิมถ้าเป็นของผู้ชายหินที่ประดับอยู่บนหลุมฝังศพจะมีลักษณะกลม ถ้าเป็นของผู้หญิงจะเป็นหินเพียงซีกเดียวหากต้องการเข้าชมภายในต้องได้รับอนุญาตจากโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านคนทั่วไปสามารถเข้าชมภายนอกบริเวณภายนอกอาคารมัสยิดได้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อมัสยิด 300 ปี โทร. 0 7352 2411

วัดเขากง พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล ในจังหวัดนราธิวาสมีพระพุทธรูปสำคัญ และเป็นพระพุทธรูปที่ประทับกลางแจ้งซึ่งมีขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในดินแดนภาคใต้ คือ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ในดินแดนด้ามขวานทองนี้ ประดิษฐานเป็นองค์ประธานในพื้นที่พุทธอุทยาน วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐาราม
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายวางหงาย นั่งขัดสมาธิเพชรอยู่บนยอดเขา เป็นศิลปะสกุลช่างอินเดียตอนใต้แบบโจฬะที่แพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้และแหลมมลายู องค์พระสร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับโมเสกสีทองทั้งหมด มีหน้าตักกว้างถึง 17 เมตร และมีความสูงวัดจากพระเกศบัวตูมถึงฐานบัวใต้พระเพลา รวม 24 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกของอ่าวไทย
วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐารามนั้น เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้กลายเป็นวัดร้างอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จนมีพระภิกษุมาจำพรรษาอีกครั้งในปี พ.ศ.2494 และได้รับการฟื้นฟูจนมีความรุ่งเรืองมาในปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาในการก่อสร้างพระพุทธทักษิณมิ่งมงคลขึ้นบนยอดเขากงนี้ ด้วยสาเหตุว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพุทธสถานมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยมีการค้นพบหลักฐานที่เป็นซากโบราณสถานอันเป็นส่วนประกอบของเจดีย์พร้อมทั้งเศียรพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานรวมทั้งโบราณวัตถุมากมาย ดังนั้นบรรดาพุทธบริษัท ทั้งหลายจึงรวมใจกันสร้างองค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่บนยอดเขากง เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐาราม อ.เมือง จ.นราธิวาส ห่างจากตัวเมืองประมาณ 9 กม. ใช้เส้นทางนราธิวาส – ระแงะ

ททท.สำนักงานนราธิวาส (นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยว อ.เบตง)
102/3 หมู่ที่2 ถ.นราธิวาส-ตากใบ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส 96000
โทรศัพท์ 0 7352 2411 โทรสาร 0 7352 2412
อีเมล์: [email protected]

เริ่มออกเดินทางเข้าสู่จังหวัดยะลา ระหว่างทางเราจะผ่าน “สะพานข้ามเขื่อนบางลาง” บริเวณบ้านคอกช้างกับบ้านกระป๋อง ต.แม่หวาด อ.ธารโต เพื่อตัดส่วนคดเคี้ยว และย่นระยะทางกว่า 15 กม. ถนนสาย 410 ยะลา – เบตง เดิมมีเส้นทางระหว่างภูเขาที่มีความคดเคี้ยว ทำให้การสัญจรเป็นด้วยความล้าช้าและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ทางราชการต้องดำเนินการสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 สายยะลา-เบตง สะพานข้ามอ่างเก็บน้ำบางลาง บ.ฆอแย-บาตา ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ขึ้น โดยถนนสายนี้เป็นเส้นทางเชื่อมถนนหมายเลข 410 ส่วนที่ลัดเลาะบริเวณท้ายเขื่อน ที่มีความคดเคี้ยวเข้าด้วยกัน ถ้าใช้เส้นทางนี้โดยประหยัดเวลาในการเดินทาง

เมื่อเข้าสู้ อ.เบตงแล้วระหว่างทางก่อนที่จะถึงตัวเมืองเบตงอย่าลืมแวะทานวุ้นดำหรือ เฉาก๊วยของเบตง ซึ่งยังคงมีวิธีการทำแบบโบราณ ซึ่งทำจากหญ้าชนิดหนึ่ง ที่มีปลูกในประเทศจีน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งอพยพมาจากประเทศจีน ประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว และถ่ายทอดให้ลูกหลานได้ทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเบตงอีกชนิดหนึ่งด้วย โดยนำมาต้มกับส่วนผสมแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ เพื่อแยกหญ้าวุ้นดำออกจากน้ำ ซึ่งกลายเป็นสีดำ จากนั้นนำแป้งมันสำปะหลังผสมกับน้ำที่ได้จากการกรองในขณะที่ยังร้อน แล้วคนให้เข้ากัน ทิ้งไว้จนกว่าจะกลายเป็นวุ้น นิยมรับประทานกับน้ำเชื่อมแล้วเติมน้ำแข็ง มีสรรพคุณในการแก้ร้อนในได้อีกด้วย ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบดั้งเดิม ใช้ไม้ฟืนในการต้ม ไม่ใช้แก๊ส เพื่อให้มีกลิ่นหอม ราคาขายก็ กก.ละ 60 บาท ทานได้เป็น 10 คน

-ร้านเฉาก๊วย กม.4 (ตึก) 073 – 245095

-ร้านเฉาก๊วย กม.4 บ้านไม้ 063 965 9499

ทั้งล้วนมาจากรากเหง้า เถาเดียวกัน คือ กม.4 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

และถัดมาจากเฉาก๊วย แล้วยังมีอีกหนึ่งเมนูที่มาถึงเบตงแล้วห้ามพลาดเด็ดขาดนั้นก็คือ ร้านเจริญข้าวมันไก่เบตงพันธุ์แท้ ของดีจาก อ.เบตง จังหวัดยะลา ซึ่งป้ายเขียนไว้ว่า ไม่มีสาขา มีเจ้าแรกเจ้าเดียว ร้านเปิดขายมานานกว่า 30 ปีแล้ว ประวัติ ไก่เบตงว่าเริ่มต้นมาจากไก่แลนซาน จากมณฑลกวางตุ้ง ในยุคสงครามมหาบูรพา คนจีนได้นำไก่พันธ์นี้เข้ามาในเมืองไทย และมีความเชื่อในการนำมาเซ่นไหว้ มีมากใน อ.เบตง จ.ยะลา ที่สามารถเลี้ยงไก่พันธุ์นี้ได้ จากนั้นโครงการหลวงและกรมปศุสัตว์เลยเข้ามาช่วยดูแล จุดเด่นของไก่เบตงคือเนื้อเหนียว นุ่ม หอม และปลอดสารพิษ ตัวไก่เหนียว นุ่ม อร่อย ชิ้นหนาดี ทางร้านจะมีราดซอสเห็ดหอมให้ด้วย ตัวน้ำจิ้มรสเข้มข้นราดแล้วเพิ่มรสชาติ ตัวน้ำซุปก็รสกลมกล่อมซดเพลินดี

กินกันอิ่มท้องแล้วมาถึงเบตงแล้วก้จะพาไปไหว้พระขอพรกันที่ พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ เป็นพระธาตุเจดีย์ก่อสร้างแบบศรีวิชัยประยุกต์ มีสีทองอร่าม กว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยสร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฎีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา เมื่อขึ้นไปด้านบน คุณจะได้ดื่มด่ำทัศนียภาพของวัดและเมืองเบตงที่น่าประทับใจ อีกมุมหนึ่ง ทั้งนี้ตามประวัติกล่าวว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์บนพื้นที่บริเวณนี้ไว้แล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2512 แต่ยังไม่มีการก่อสร้างแต่อย่างใด ต่อมาภายหลังหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกวัง ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทย ได้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างเป็นพระมหาธาตุเจดีย์แบบศรีวิชัยประยุกต์ โดยมีเจดีย์องค์ประธาน 4 องค์อยู่ตรงกลางรายรอบด้วยเจดีย์บริวาร และมีเจดีย์องค์เล็กขนาดเท่ากับเจดีย์องค์บริวาร ซึ่งเป็นเรือนธาตุซ้อนกันอยู่ภายในเจดีย์องค์ประธาน (สำหรับบรรจุพระสถูปพระบรมสารีริกธาตุ) ดังที่เห็นในปัจจุบัน

เมื่อไปไหว้กันมาแล้วอีกจุดหนึ่งที่มาถึงเบตงแล้วก็ควรจะแวะไปเช็คอินกันสำหรับสุดสิ้นสุดแผ่นดินไทย “ด่านพรมแดน ไทยมาเลย์”ซึ่งเป็นจุดไว้สำหรับตรวจคนเข้าออกระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเชีย

นอกจากนี้แล้วภายในตัวเมืองเบตงยังมีสถานที่เก๋ๆให้ไปเดินถ่ายรูปที่น่าสนใจอีกอย่างเช่นตามตรอกซอกซอยต่างๆใกล้ๆกับสี่แยกหอนาฬิกาจะมีภาพวาดที่แสดงเรื่องราววิถีของคนเบตงอีกด้วย และอีกหนึ่งจุดที่มาถึงเบตงก็ต้องมาถ่ายรูปตรงนี้นั้นก็คือ ตู้ไปรษณีย์แห่งอำเภอเบตงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงความยากลำบากในการติดต่อสื่อสารระหว่างอำเภอเบตงกับอำเภอื่นๆ ในอดีต และการติดต่อสื่อสารกันด้วยจดหมายนั้นจัดเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด อีกทั้งเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการสื่อสาร ของอำเภอเบตงในคราวเดียวกัน โดยตู้ไปรษณีย์ที่จำลองขึ้นมาตู้นี้ มีขนาดใหญ่กว่าตู้เดิมถึง 3.5 เท่า สูงประมาณ 9 เมตร ยังคงใช้งานได้จริงในปัจจุบัน ตลอดทั้งมีการติดตั้งวิทยุกระจายเสียงวางอยู่บนส่วนบนของตู้ เพื่อให้ชาวเบตงได้รับฟัง ข่าวสารจากทางราชการด้วย นับเป็นไฮไลท์ของอำเภอเบตงที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก สำหรับตู้ไปรษณีย์เดิมก็ยังคงได้รับการอนุรักษ์พร้อมๆ กับใช้งานจริงไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งตู้ไปรษณีย์เก่านี้ สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2467 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนายสงวน จินดา นายกเทศมนตรีอำเภอเบตง ผู้เคยเป็นบุรุษไปรษณีย์มาก่อน ตู้ดังกล่าวตั้งอยู่ที่มุมถนนสุขยางค์ บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง ลักษณะของตู้เป็นรูปทรงกลมและเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีเส้นรอบวงของตัวตู้ประมาณ 140 ซม. ถ้านับจากฐานขึ้นไปจะรวมความสูงได้ทั้งหมดประมาณ 320 เซ็นติเมตร และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็มีอายุกว่า 80 ปีแล้ว

และสำหรับคนที่อยากจะได้เห็นวิว เมืองเบตงกันแบบชัดๆให้ลองขึ้นกันไปที่ “พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง” ที่ด้านหลังจะเห็นวิวเมืองเบตงแบบ180องศาเลย

ได้เวลาเช็คอินเข้าที่พักกันก่อนเพื่อนล้างหน้าล้างตาก่อนไปรับประทานอาหารเย็นกัน สำหรับในเมืองเบตงแห่งนี้ ก็มีโรงแรม Grand Mandarin Betong ที่สามารถเห็นวิวเมืองเบตงได้เต็มๆตาเลยทีเดียว และเป็นโรงแรมที่ใหญ่ได้มาตราฐานมีพร้อมทุกสิ่ง

เช็คอินเข้าที่พักกันเรียบร้อยแล้วได้เวลามื้อเย็นของวันนี้ที่เบตง จะพาไปกินกันที่ร้าน “ร้านต้าเหยิน”ถืือว่าเป็นร้านรับแขกบ้านแขกเมืองเลยก็ว่าได้ ถ้ามาเบตงแล้วอยากกินอาหารท้องถิ่น ให้มาที่นี่ ต้าเหยิน ร้านอาหารเก่าแก่ของเบตง อาหารของที่นี่จะเป็นอาหารจีนแบบท้องถิ่น วันที่มาผักน้ำหมดเลยอดกิน แต่ก็ได้กินของหลักๆอยู่ อย่างเช่นไก่เบตงสับ ไก่เนื้อแน่นๆเลี้ยงตามธรรมชาติ เนื้อนุ่มไม่แห้งกระด้าง ราดด้วยน้ำซีอิ๊วหวานๆเค็มๆ ชุ่มๆ หอมกลิ่นกระเทียมเจียว แนะนำให้ชิม เคาหยกอันนี้ก็ดี หมูสามชั้นชิ้นใหญ่ๆกับเผือกเอาไปหมักกับเครื่องเทศของจีนแล้วเอาไปนึ่ง รสชาติหอมหวานมีเผ็ดร้อนพริกไทยนิดๆ ปลาจีนนึ่งบ๊วย ปลาจีนเลี้ยงบ่อธรรมชาติไม่คาวไม่มีกลิ่นดิน เนื้อนุ่มหวานร่วน แต่ก้างเยอะ เอามานึ่งกับบ๊วยดอง โรยด้วยขิงฉ่ำๆ อร่อยเปรี้ยวๆเค็มๆ หมี่เหลืองผัดสูตรเบตง หมี่เหลืองเส้นใหญ่ๆนุ่มๆ ผัดแบบขลุกขลิก รสชาติเก๋ๆอร่อย คือทั้งหมดทั้งมวลไม่ควรพลาด

  • ที่อยู่ : 253 ถ.สุขยางค์ ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา 95110

  • โทรศัพท์ : 073245189 , 073230461

กินข้าวเรียบร้อยแล้วอยากได้ของหวานก่อนนอกอีกสักอย่าง เราจะพาไปชิมโรตีหอนาฬิกา ที่เบตงกันต่อใกล้ๆไม่ไกลจากสี่แยกหอนาฬิกาก่อนเข้าอุโมงค์ เบตงมงคลฤทธิ์ เป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย เป็นอุโมงค์สำหรับเป็นทางเชื่อมของชุมชนในแถวนั้น จากการหาข้อมูล จะเห็นอุโมงค์นี้ประดับไฟตกแต่งสวยงาม และไม่เหมือนกัน เลยกลายเป็นจุดที่ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือคนในพื้นที่ ก็ชอบมาถ่ายรูปกัน แต่ข้อแนะนำคือต้องระมัดระวังด้วยในการถ่ายรูป เพราะเป็นถนนที่ใช้สัญจร และอุโมงค์เป็นแนวโค้ง และออกมาจากอุโมงค์ก็เป็นเนินลงมาด้านล่าง ทำให้เป็นมุมอับสายตาของคนขับรถเหมือนกัน

คืนนี้รีบเข้านอนเพราะตอนเช้าเราต้องตื่นกันตั้งแต่เช้ามากๆ เพราะอีกหนึ่งจุดที่มาเบตงถือว่าเป็นไฮไลของที่เบตงเลยก็ว่าได้ นั้นก็คือ ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง (เขาไมโครเวฟ) ตั้งอยู่บนเทือกเขา บริเวณบ้าน กม.32 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเทือกเขานี้ ชาวบ้านบริเวณ กม.32 เรียกว่า “เขาไมโครเวฟ” โดยมีเครื่อง และเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ของทีโอที ตั้งอยู่ยอดเขา ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุต ซึ่งเส้นทางที่จะขึ้นไปยังบนยอดเขานั้น เป็นถนนลาดยาง และถนนคอนกรีต อยู่ห่างจาก อบต.อัยเยอร์เวง ประมาณ 7-8 กิโลเมตร การเดินทางจากที่พักใน อ.เบตงไปชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จากตัวเมืองเบตงไปทางเส้นทางหมายเลข 410 ( ยะลา-เบตง) ประมาณ 40 กิโลเมตร และแยกเข้าไปทางซ้ายมือ ที่ สะพาน กม.32 ( จะมีป้ายบอกชมทะเลหมอกชัดเจน) ตามถนนคอนกรีตอีกประมาณ 7-8 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่สะดวกและปลอดภัย

หลังจากนี้เราออกเดินทางไปกันต่อที่ จ.ปัตตานี โดยจุดหมายแรกของเราก็มากันที่ มัสยิดกรือเซะ ” มัสยิดเก่าแก่ที่อยู่คู่จังหวัดปัตตานีมายาวนานเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี มัสยิดแห่งนี้มีลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบเสากลมก่ออิฐถือปูนตามแบบศิลปะทางตะวันออกกลางสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงมัสยิด มีฮวงซุ้ยหรือที่ฝังศพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งชาวปัตตานีให้ความเคารพศรัทธายิ่งนัก

ช่วงเวลาที่มัสยิดกรือเซะถูกสร้างนั้นยังเป็นที่ถกเถียง บ้างว่าสร้างในรัชสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ บ้างก็ว่าสร้างในรัชสมัยรายาบีรูส่วนกรณีที่มัสยิดสร้างไม่สำเร็จนั้น ก็มีการยึดโยงกับตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งมีสุสานอยู่ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ ที่ถูกเล่าต่อเติมภายหลังว่าเจ้าแม่ได้สาปให้มัสยิดนี้สร้างไม่สำเร็จ จนกลายเป็นปัญหากินแหนงแคลงใจระหว่างชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ แต่จากการสำรวจและบูรณะของกรมศิลปากร พบว่าโครงสร้างโดมนั้นมีลักษณะไม่แข็งแรงและขาดความสมดุลจึงทำให้พังทลาย ทั้งยังไม่พบร่องรอยถูกเผาหรือถูกฟ้าผ่าตามตำนานที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะหลังราชวงศ์กลันตันปกครองปัตตานีถัดจากราชวงศ์ศรีวังสา ได้ย้ายศูนย์กลางเมืองไปยังบานาและจะบังติกอตามลำดับ มัสยิดกรือเซะจึงถูกทิ้งให้โรยราไป

“ชุมชนบางปู” ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีกิจกรรมการล่องเรือ ชมอุโมงค์ต้นโกงกางที่เลื่องชื่อ ชมวิถีชาวประมงพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวอิสลามกับ ชุมชนบางปู สัมผัสกับความร่มรื่นของธรรมชาติและความมหัศจรรย์ของป่าชายเลนนี้ ทั้งกิจกรรมเก็บหอย ล่องเรือชมวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านในพื้นที่มุ่งหน้าไปที่ลานโกงกาง ซึ่งเป็นลานไม้ไผ่สร้างเพื่อเป็นจุดชมวิวภายในอ่าวปัตตานี

ป่าชายเลนยะหริ่งมีพื้นที่เกือบหมื่นไร่ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย ซึ่งวันนี้มีทั้งป่าชายเลนที่เป็นผืนป่าเก่าหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ป่าโบราณ” ที่เต็มไปด้วยป่าโกงกางหนาทึบ ต้นสูงใหญ่ โกงกางหลายๆต้นสูงเกินกว่า 10 เมตรขึ้นไป และป่าชายเลนที่กำลังเกิดใหม่อันเกิดจากธรรมชาติสรรค์สร้างและเกิดจากการปลูกป่าเพิ่มเติม

เมื่อมาถึงปัตตานีแล้วไม่ควรพลาดที่จะมาไหว้ขอพรกันที่ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือที่มีชื่อเป็นทางการว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของ จ.ปัตตานีมาตั้งแต่โบราณ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง ปัตตานี ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันทรงความศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เดิมศาลเจ้านี้มีชื่อเรียกว่า “ศาลเจ้าซูก๋ง” ตามหลักฐานที่จารึกอยู่ในศาลเจ้า ปรากฏว่า ตั้งขึ้นเมื่อวันชัยมงคล ปีบวนเละที่ ๒ ศักราชราชวงศ์เหม็ง ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๑๑๗ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา แม้ศาลเจ้านี้จะตั้งมาเก่าแก่นับได้หลายศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหารของเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว ศาลเจ้านี้จึงมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ศรัทธาของสาธุชนเสมอมามิได้ขาด

“มัสยิดกลางปัตตานี”มัสยิดกลางปัตตานีนับเป็นมัสยิดที่สวยงาม และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นศูนย์รวมจิตใจ และศรัทธาและเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย มัสยิดแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาว่าได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2497 เนื่องจากรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวปัตตานีส่วนใหญ่นับถืออย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีชาวมุสลิมจ ำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ จึงเห็นสมควรให้จัดสร้างมัสยิดขนาดใหญ่ ไว้เพื่อเป็นศูนย์กลางแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศ

“Skywalk” ที่ตั้งอยู่ในสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต ำบลรูสะมิแลอ อำเภอเมือง จ.ปัตตานี ก็มีนักท่องเที่ยวและประชาชนจำนวนมาก พากันขึ้นไปชมสวยงามตลอดทั้งวัน โดยผู้สร้างยังหวังให้ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่จะเป็นศูนย์รวมคนต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา

มาถึงของกินกันบ้างครับ เมื่อมาถึงปัตตานีทั้งที สะเต๊ะศรีเมืองเจ้าเก่าเมืองปัตตานีที่ใครผ่านมาลองมาแวะชิม อีกทั้งยังเป็นร้านที่ชื่นชอบของคนปัตตานีอีกด้วย เมนูสะเต๊ะไก่ผสมเนื้อ 6 ไม้ + ข้าวก้อน ชุดละ 35 บาท รอเยาะ 1 ชุด 30 บาท ราคาสบายกระเป๋ารสชาติไก่หอมนุ่ม เนื้อวัวไม่คาวนุ่มหอม น้ำสะเต๊ะอร่อยค หอมกลิ่นเครื่องเทศ ถ้ามาเที่ยวปัตตานีคือร้านนี้ต้องลองให้ได้

ถ้าถามหาร้านอาหารท้องถิ่นของที่นี้ เจ้าถิ่นหลายคนคงต้องแนะนำที่นี้ ร้านนี้เปิดมานานมาก เจ้าของดั้งเดิมคนก่อตั้งร้าน ตอนนี้อายุ 70 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันนี้คือรุ่นลูกหลานมาทำ ร้านตั้งอยู่หัวมุมปากซอยกะลาพอ ซอย 2 หาง่าย ถ้าข้ามสะพานเดชา ผ่านตลาดโต้รุ่ง ถึงสี่แยกให้เลี้ยวขวา ร้านอยู่ฝั่งขวามือเลย เปิด 9.00 น.- 18.00 น.

“ร้านข้าวยำราชา”เป็นร้านอาหารพื้นเมืองของปัตตานีที่โด่งดัง และเก่าแก่อีกร้านหนึ่งในจังหวัดปัตตานี มีชื่อเสียงในเรื่องของข้าวยำ อร่อยที่สุด จนได้ฉายาว่าเป็น “ข้าวยำราชา” ตัวร้านตั้งอยู่หน้าปากซอยนาเกลือ 3 หากมาจากห้างไดอาน่า มุ่งตรงไปยังถนนนาเกลือ เลยคลินิกหมอเป็ดรักษ์ฟัน ไปประมาณ 50 เมตร ก็จะพบกับร้านนี้ ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือมีป้ายด้านหน้าชัดเจน โลโก้ร้านสัญลักษณ์เรือกอและ หากหาไม่เจอก็ถามคนแถวนั้นได้ รู้จักกันดี ไม่หลงแน่นอน ตัวอาคารเป็นตึกแถว 2 ชั้น บริเวณชั้นหนึ่งมีที่นั่งสามารถรองรับได้ประมาณ 30 คน หากจะขึ้นไปชั้นสองจะมีป้ายบอกให้ถอดรองเท้าด้วย เมนูอาหารที่ขึ้นชื่อคือ “ข้าวยำ” ทานคู่กับปลาย่างตามฤดูกาลที่ทางร้านหามาได้ บางครั้งก็เป็นปลาตาโต บางครั้งก็เป็นปลาทู และในบางครั้งที่ไปก็พบว่าเป็นปลาหางแข็ง แต่ไม่ว่าจะเป็นปลาอะไรก็อร่อยเข้ากันได้ดีมากกับข้าวยำ ปลาสด ๆ ทาด้วยเกลือขมิ้นแล้วนำไปย่างบนเตาถ่านมีกลิ่นหอม ๆ และเนื้อหวาน แนมด้วยผักเคียงต่าง ๆ เบิ้ลความอร่อยด้วยสะตอย่าง อร่อยสมชื่อจริง ๆ มาที่ร้านนี้แล้วต้องห้ามพลาดกับเมนูนี้

  • สถานที่ตั้ง : ถนนนาเกลือ ซอย 3 (ใกล้คลินิกหมอเป็ดรักษ์ฟัน อาณาจักรทันตกรรมแห่งลังกาสุกะ) ตำบล อาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000

  • เบอร์โทรศัพท์ : 073 333 3288, 081 543 7501

  • วันเวลาเปิด-ปิด : 15.00 – 21.00 น. (ปิดทุกวันศุกร์)

สำหรับในค่ำคืนสุดท้ายที่ปัตตานีเรานอนกันที่ โรงแรม ชี.เอส. ปัตตานี โรงแรมที่ออกแบบปนภายใต้แนวคิดของการธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของปัตตานี ให้ท่านสัมผัสเสน่ห์แห่งศิลปวัฒนธรรมที่งดงามพร้อมห้องพักหรู ห้องอาหารบริการอาหารพื้นเมือง อาหารมุสลิม อาหารไทย จีน ยุโรป ห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุม ศูนย์กีฬาครบวงจร ร่วมสืบสานศิลปหัตถกรรมไทย ชมพิพิธภัณฑ์เครื่องจักรสานย่านสิเภาและเครื่องถมทอง และเพลิดเพลินกับนกนางแอ่นที่ธรรมชาติรีงสรรค์ไว้อย่างสวยงาม สัมผัสเสน่ห์แห่ปัตตานี http://www.cspattanihotel.com/index.php

ขอขอบคุณ

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สนับสนุนการเดินท่องเที่ยวในครั้งนี้ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อประชาสัมพันธ์ ด้านอาหารและการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ตามนโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

ททท.สำนักงานนราธิวาส (นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยว อ.เบตง)
102/3 หมู่ที่2 ถ.นราธิวาส-ตากใบ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส 96000
โทรศัพท์ 0 7352 2411 โทรสาร 0 7352 2412
อีเมล์: [email protected]