ทริปนี้เปิดประตูสู่อีสานอีกครั้งด้วยพาเพื่อนๆไปเที่ยว จังหวัด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ซึ่งช่วงที่เราได้นี้ก็มีงานหลากหลายที่ได้จัดขึ้นมา ซึ่งแสดงถึงพลังของพี่น้องชาวอีสานที่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมเอาไว้จนมาถึงทุกวันนี้เป็นอย่างดี ซึ่งที่แรกที่จะพาท่านไปเที่ยวก็คือ พระธาตุนาดูน ซึ่งช่วงที่เราไป (24 ก.พ.61) ที่วัดพระธาตุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานนมัสการพระบรมธาตุนาดูน ประจำปี 2561 นับเป็นการจัดงานปีที่ 40 โดยได้จัดให้มีกิจกรรมทั้งภาคกลางวันและกลางคืน ประกอบด้วย ขบวนแห่ประเพณี 12 เดือน พิธีบวงสรวงพระบรมธาตุนาดูน พิธีบวงสรวงกู่สันตรัตน์ และปูชนียสถานอื่น พิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ กิจกรรมตักบาตรฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งในปีนี้ได้จัดให้มีการเปิดงานโดยนางรำ จำนวน 5,000 คน และในวันที่ 1 มีนาคม 2561 จังหวัดมหาสารคามร่วมกับพุทธศาสนิกชนทุกภาคส่วน ได้จัดให้มีพิธีเวียนเทียนในวันมาฆบูชา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการออกร้าน จัดแสดงนิทรรศการของส่วนราชการ เอกชน รวมทั้งร้านหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ตลอดงาน ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดียิ่ง และยังมีการประดับ ตกแต่งดอกไม้ไฟ แสง สี ที่สวยงาม โดยสำนักงานกองทุนพัฒนาและอนุรักษ์พระบรมธาตุนาดูนอีกด้วย
หลังจากชมพลังศรัทธาของนางรำกว่า5000ชีวิตแล้วเราพาไป ชมปะติมากรรมหุ่นฟางยักษ์ ที่ทุ่งนาเนื้อที่กว่า 10 ไร่ บ้านหนองโนใต้ ต.นาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม มีการจัดงานเทศกาลหุ่นฟางยักษ์ และหมอลำหุ่นกระติบข้าวมหาสารคาม 2018 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ.61 มีนักท่องเที่ยวในพื้นที่ และจากจังหวัดใกล้เคียงทยอยเดินทางเข้ามาเที่ยวชมงานนับหมื่นคนต่างพากันถ่ายรูปเซลฟี่เป็นที่ระลึกกับหุ่นฟางรูปแบบต่างๆ ตามจินตนาการของผู้สร้างจำนวน 20 ตัว มีความสูงกว่า 5 เมตรที่ตั้งกระจายอยู่กลางทุ่งนา อาทิ สิงโต พญานาค นกฮูก ปลาโลมา ปลาหมึก คิงคอง ปู กระบือ อูฐ วานร ยักษ์ ม้าบิน วัวกระทิง เป็นต้น วัตถุประสงค์การจัดงานหุ่นฟางยักษ์และเทศกาลหมอลำหุ่นกระติบข้าว มหาสารคาม 2018 ครั้งที่ 1 ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กระตุ้นการท่องเที่ยวในท้องถิ่น พร้อมกับเปิดเวทีการแสดงเชิงวัฒนธรรมให้ชาวบ้าน เยาวชนและประชาชนจากจังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดใกล้เคียงได้มาร่วมกันแสดงฝีมือประกวดแข่งขันการทำหุ่นฟางยักษ์ เพื่อเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดมหาสารคาม
ตลาดโรงสี Ricemill market
โรงสีข้าวสมัยเมื่อ 50 ปี ก่อน ถูกแปลเปลี่ยนเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ หนึ่งเดียวของกาฬสินธุ์ภายในเน้นขายอาหารท้องถิ่นท้องถิ่น ขนม เสื้อผ้า ของทำมือ ของฝากแนวๆ และอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดของกาฬสินธุ์ ก็คือ แจ่วฮ้อนกาฬสินธุ์ นอกจากนี้ชั้น 2 ยังมีร้านนั่งชิว เล่นดนตรีสดมีมุมถ่ายรูป ในบรรยากาศย้อยอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน ตลาดโรงสี เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 07.00-23.00 น. (ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการตอนเย็นหลังห้าโมงเย็น)
พิพิธภัณฑ์สิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวไดโนเสาร์แบบครบวงจร ทั้งแสง สี เสียง ตระการตาและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แบ่งเป็น 9 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 การกำเนิดโลกและจักรวาล โซนที่ 2 กำเนิดสิ่งมีชีวิต โซนที่ 3 มหายุคพาลิโอโซอิก มหายุควิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ โซนที่ 4.1 มหายุคมีโซโซอิก มหายุคแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์ โซนที่ 4.2 ไดโนเสาร์ไทย โซนที่ 5 วิถีชีวิตไดโนเสาร์ไทย โซนที่ 6 คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์ โซนที่ 7 มหายุคซีโนโลอิก มหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โซนที่ 8 เรื่องราวของมนุษย์ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังมีบริการจัดค่ายเยาวชน มีห้องประชุม ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายของที่ระลึกไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย เปิดให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม คนไทย เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท ชาวต่างประเทศ เด็ก 50 บาท ผู้ใหญ่ 100 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 043 871 014
ถัดจากพิพิธภัณฑ์สิรินธนนั้นมาไม่ไกลท่านจะได้พบกับสวนไดโนเสาร์ ที่ท่านจะได้เห้นไดโนเสาร์กำลังข้ามถนนและสามารถลงไปถ่ายรูปได้เกร๋ๆ
วนอุทยานภูแฝก หรือ แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ภูแฝก เป็นแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยรอยเท้าไดโนเสาร์นั้นถูกค้นพบบนพลาญหินที่เป็นทางน้ำของห้วยน้ำยัง รอยเท้าฝังอยู่ในผิวหน้าของชั้นหินทรายที่แกร่งของหมวดหินพระวิหาร ซึ่งตามลำดับชั้นหินจะวางตัวอยู่ใต้ชั้นหินของหมวดหินเสาขัว ซึ่งเป็นชั้นหินที่พบกระดูกไดโนเสาร์มากที่สุดของประเทศไทย การเดินทางไปวนอุทยานภูแฝก เดินทางจากอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ไปตามเส้นทางกาฬสินธุ์-สกลนคร ประมาณ 42 กิโลเมตร ถึงสี่แยกอำเภอสมเด็จเลี้ยวขวาไปประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงสามแยกอำเภอห้วยผึ้ง เลี้ยวซ้ายไปทางกิ่งอำเภอนาคู ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าวนอุทยานภูแฝก (ถนนคอนกรีต) เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะถึงวนอุทยานภูแฝก รวมระยะทางจากอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ถึงวนอุทยานภูแฝก ประมาณ 76 กิโลเมตร
วัดพุทธนิมิต อยู่บนยอดเขาภูค่าว บริเวณยอดเขาด้านทิศตะวันตกมีพระนอนแกะสลักบนแผ่นผาผายุนับพันปี เป็นที่เคารพสักการะของชาวกาฬสินธุ์ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโบสถ์ที่ประดับตกแต่งสวยงามและวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระเครื่องจำนวนมาก มีงานเฉลิมฉลองพระพุทธไสยาสน์ในวันสงกรานต์ พระนอนสลักบนแผ่นผา หรือพระพุทธไสยาสน์ภูค่าวมีพุทธลักษณะเป็นพระนอนปางไสยาสน์ คือ พระเศียรหนุนทับต้นแขน โดยท่อนแขนที่หนุนพระเศียรไม่ได้ตั้งขึ้นและพระหัตถ์ไม่ได้รองรับพระเศียร องค์พระมีลักษณะพิเศษคือ นอนตะแคงซ้ายไม่มีเกตุมาลา ตำนานว่าเป็นลักษณะของพระโมคคัลลานะ พระสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า ความยาวตลอดองค์ 2 ม. สูง 0.5 ม. มีทองคำเปลวปิดอยู่ทั่วองค์ วิหารสังฆนิมิต อยู่บนยอดเขาใกล้ทางไปชมพระนอนภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมาก และบริเวณผนังเรื่อยขึ้นไปถึงเพดานมีพระเครื่องต่าง ๆ นับพันองค์ติดประดับอยู่ดูสวยงามตื่นตา นอกจากนี้บริเวณลานโล่งนอกตัววิหารยังมีหอพระธาตุซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ทางวัดได้มาจากที่ต่างๆ ในภาชนะแก้วใส และรอยพระพุทธบาทจำลองเก่าแก่สลักบนหินก็อยู่ในบริเวณเดียวกัน โบสถ์ไม้ อยู่บนเนินเขาด้านซ้ายของถนนก่อนถึงบริเวณวัด เป็นอาคารไม้ทรงไทยตั้งบนฐานลวดบัวปูนปั้น หลังคาจั่วซ้อนกันสามชั้น มีชายคาปีกนกทั้งสี่ด้าน หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปพระพุทธเจ้าประทับในป่าทึบแวดล้อมด้วยสิงสาราสัตว์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักเรื่องพุทธชาดก และมีการประดับไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาทั่วโบสถ์ ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระมงคลชัยสิทธิ์โรจนฤทธิประสิทธิพร เป็นพระประธานปางตรัสรู้หรือปางสมาธิสีทองสุกอร่าม บริเวณโดมเพดานเหนือองค์พระตกแต่งด้วยประติมากรรมไม้แกะสลักนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ ทาสีทอง
เสื่อกกบ้านแพง การทอเสื่อกก บ้านแพง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดสมสมบูรณ์ หมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ คือบึงแพง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีต้นผือขึ้นตามธรรมชาติมากมาย ซึ่งต้นผือนี้ชาวบ้านนิยมนำมาเป็นวัสดุในการทอเสื่อ เพื่อใช้ในครัวเรือน ต่อมามีการผลิตมากขึ้น และเป็นของฝากให้กับญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยียนกัน และยังสามารถจำหน่ายและแลกข้าวเปลือกสร้างรายได้ให้กับคนในครอบครัวและชุมชน ราคาผืนละ ๖-๗ บาท เริ่มแรกไม่มีการใช้สี ต่อมาก็มีการใช้สีธรรมชาติ และเกิดแห้งแล้ง ชาวบ้านแพงจึงได้เดินทางไปเอาต้นกกมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดมาปลูกไว้ที่บึงบ้านแพง เพื่อนำมาทอเสื่อกก
ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ สตรีในหมู่บ้านจึงได้มีแนวคิดที่จะรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อรวมกันผลิตเสื่อกกเป็นสินค้าของหมู่บ้าน ต่อมาปี ๒๕๔๖ ได้มีการพัฒนาเป็นสีน้ำตาล ลายมัดหมี่ ลายเปีย และมีการคัดสรรสินค้า OTOP มีการขายผลิตภัณฑ์ที่เมืองทองธานี ขายดีมากและเป็นที่ต้องการของตลาด
หลังจากนั้รพาท่านไปดูชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ กว่า 4,000 คน ฟ้อนผู้ไทกาฬสินธุ์ รำบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร เจ้าโสมพะมิตร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ คนแรก ในจัดพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร และหอเจ้าบ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อให้การสิจัดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา ฉลอง 224 ปี เมืองกาฬนธุ์ ประจำปี 2561 นับเป็นงานประเพณีของจังหวัดที่จัดเป็นประจำทุกปี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จุดสำคัญของงานคือขบวนแห่ในพิธีเปิดงานที่มโหฬารที่แสดงให้เห็นถึง ประเพณีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สร้างขึ้นจากคำขวัญของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ว่า “โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรม ผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี” ที่แสดงถึงความรักสามัคคี ความพร้อมเพรียง การรวมใจเป็นหนึ่งของผู้คนที่จะช่วยกันจรรโลง เชิดชูเกียรติ ชื่อเสียง และเอกลักษณ์ของเมืองกาฬสินธุ์ให้เป็นที่รู้จักสืบไป